[Translation] Inventing Bitcoin: Chapter 1 ~ What is Bitcoin?

Piriya Sambandaraksa
3 min readOct 6, 2021

--

บิตคอยน์คืออะไร?

บิตคอยน์ คือเงินสดอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถทำงานได้ระหว่างบุคคล-ถึง-บุคคล หรือ เพียร์-ทู-เพียร์ (peer-to-peer) มันคือเงินดิจิทัลรูปแบบใหม่ที่ผู้คน หรือแม้แต่คอมพิวเตอร์ สามารถทำธุรกรรมต่อกันได้โดยไม่ต้องมีตัวกลางที่น่าเชื่อถือ (เช่น ธนาคาร) และมันยังเป็นเงินที่ไม่มีใครสามารถควบคุมแทรกแซงอัตราการผลิตของมันได้อย่างสิ้นเชิง

ลองนึกถึงเงินกระดาษอย่างดอลลาร์ หรือเหรียญโลหะที่จับต้องได้ เมื่อคุณส่งเงินเหล่านั้นให้กับผู้อื่น พวกเขาไม่จำเป็นต้องรู้ว่าคุณคือใครตราบใดที่มั่นใจได้ว่าเงินที่เขาได้รับนั้นไม่ใช่ของปลอม ซึ่งโดยทั่วไปผู้คนสามารถตรวจสอบว่าเงินที่ได้รับเป็นของจริงหรือไม่ได้ด้วยตา และมือของพวกเขา หรือในกรณีที่ธุรกรรมมีขนาดใหญ่ พวกเขาอาจใช้อุปกรณ์พิเศษในการตรวจสอบ

เมื่อเราก้าวเข้าสู่โลกของสังคมดิจิทัล กิจกรรมทางการเงินส่วนใหญ่ของเราก็ได้ย้ายมาอยู่บนอินเทอร์เน็ตผ่านบริการของตัวกลาง เช่นบริษัทบัตรเครดิตอย่าง Visa, ผู้ให้บริการระบบชำระเงินดิจิทัลอย่าง Paypal หรือ Apple Pay, หรือแพลตฟอร์มชำระเงินออนไลน์อย่าง WeChat ในประเทศจีน

การเปลี่ยนมาสู่การชำระเงินในรูปแบบดิจิทัล มาพร้อมกับความจำเป็นต้องอาศัยตัวกลางซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบและอนุมัติธุรกรรมที่เกิดขึ้นทุกๆ ธุรกรรม เนื่องจากเงินได้เปลี่ยนสภาพจากสิ่งจับต้องได้ ที่เราสามารถพกพา ใช้จ่าย และตรวจสอบได้ด้วยตัวเอง กลายเป็นข้อมูลดิจิทัลที่จำเป็นต้องถูกบันทึก และตรวจสอบโดยตัวกลางที่มีหน้าที่ควบคุมดูแลการทำธุรกรรม

ในขณะที่พวกเรากำลังละทิ้งเงินสด เพื่อความสะดวกสบายของระบบการชำระเงินดิจิทัล เรายังได้สร้างระบบที่ให้อำนาจอันยิ่งใหญ่กับผู้คนที่พยายามจะกดขี่ควบคุมเรา แพลตฟอร์มการชำระเงินดิจิทัลได้กลายมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานของระบบการควบคุมภายใต้ระบอบเผด็จการ ดังเช่นที่รัฐบาลจีนได้ใช้มันในการจับตาเฝ้าระวังบุคคลที่คัดค้านอำนาจรัฐ และห้ามไม่ให้ประชาชนที่มีพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์สามารถใช้เงินของพวกเขาในการซื้อสินค้า และ บริการต่างๆได้

บิตคอยน์จึงกลายเป็นทางเลือกที่แตกต่างจากระบบเงินดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การควบคุมโดยส่วนกลาง ด้วยการสร้างระบบที่นำเอาลักษณะการทำงานแบบบุคคล-ถึง-บุคคลเช่นเดียวกับเงินสดกลับคืนมา เพียงแต่มีรูปแบบเป็นเงินดิจิทัลนั่นเอง

1. บิตคอยน์ (สะกดโดยใช้ตัวพิมพ์เล็ก: bitcoin) เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีปริมาณอุปทานจำกัด สามารถรู้ได้ล่วงหน้า และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งตรงกันข้ามกับธนบัตรกระดาษ และเงินดิจิทัลที่ผลิตโดยรัฐบาลและธนาคารกลาง ที่มีปริมาณอุปทานเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้า

2. คอมพิวเตอร์จำนวนมากที่เชื่อมต่อถึงกันเป็นเครือข่าย (ระบบเครือข่ายบิตคอยน์: the Bitcoin network ) ที่ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ด้วยการติดตั้งซอฟต์แวร์ตัวหนึ่งเท่านั้น ระบบเครือข่ายนี้มีหน้าที่ผลิตบิตคอยน์, บันทึก, ติดตามสถานะความเป็นเจ้าของของพวกมัน, และส่งมันไปมาระหว่างสมาชิก โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางอย่างธนาคาร, บริษัทชำระเงิน, และหน่วยงานราชการแต่อย่างใด

3. ซอฟต์แวร์บิตคอยน์ (Bitcoin client software) เป็นโค้ดที่ใครก็สามารถนำไปติดตั้งและใช้งานบนคอมพิวเตอร์ของเขาเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกในระบบเครือข่ายได้ ซอฟต์แวร์นี้เป็นซอฟต์แวร์ที่มีซอร์สโค้ดเปิดเผย ซึ่งหมายความว่าทุกคนสามารถเปิดอ่านดูได้ว่ามันทำงานอย่างไร ไปจนถึงสามารถสร้างฟีเจอร์ใหม่ๆ และช่วยกันเสนอแนวทางแก้ไขบั๊กต่างๆได้

บิตคอยน์คือเครือข่ายของคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้ง และเปิดใช้งานซอฟต์แวร์บิตคอยน์

เราจะมาพูดกันถึงแรงจูงใจต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังบิตคอยน์ในส่วนถัดไป

บิตคอยน์มาจากไหน?

บิตคอยน์ถูกคิดค้นขึ้นในช่วงประมาณปี 2008 โดยคนหรือกลุ่มคนนิรนามที่รู้จักกันในนาม ซาโตชิ นากาโมโตะ (Satoshi Nakamoto) ไม่มีใครรู้ตัวตนของคนหรือกลุ่มคนกลุ่มนี้อย่างแท้จริง เท่าที่เราพอจะทราบ เขา/พวกเขา ได้หายตัวไป และไม่มีใครได้พบเห็นเขา/พวกเขาอีกเลยมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว

ในวันที่ 11 ก.พ. 2009 ซาโตชิได้เขียนอธิบายถึงบิตคอยน์ในช่วงเริ่มต้น บนกระดานพูดคุยออนไลน์สำหรับเหล่าไซเฟอร์พังค์ (Cypherpunks) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ใส่ใจเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและอิสรภาพ และคลุกคลีอยู่กับวิทยาการการเข้ารหัสลับ หรือคริปโทกราฟฟี (cryptography) แม้ว่านี่จะไม่ใช่การประกาศตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกของบิตคอยน์ แต่มันก็เป็นบทสรุปที่แสดงให้เห็นถึงแรงจูงใจของซาโตชิอย่างชัดเจน ดังนั้นผมจะนำมันมาใช้เป็นพื้นฐานในบทสนทนาต่อจากนี้ของพวกเรา

ข้อความต่อไปนี้เป็นส่วนสำคัญที่ถูกคัดลอกมา โดยเราจะค่อยๆ ทำความเข้าใจคำแถลงการณ์ดังกล่าวทีละขั้นตอน เพื่อพยายามทำความเข้าใจว่าซาโตชิ กำลังพยายามแก้ไขปัญหาข้อใดของระบบการเงินในปัจจุบัน

เราได้สร้างระบบเงินสดอิเล็กทรอนิกส์ (e-cash) แบบ P2P ที่มีซอร์สโค้ดเปิดเผย (open-source) ขึ้นมาใหม่ชื่อว่า บิตคอยน์ มันเป็นระบบที่ไร้ศูนย์กลางโดยแท้จริง ไม่มีเซิร์ฟเวอร์ส่วนกลาง ไม่จำเป็นต้องอาศัยความเชื่อถือตัวกลางใดๆ เนื่องจากทุกสิ่งทุกอย่างตั้งอยู่บนกลไกหลักฐานที่พิสูจน์ได้ด้วยคริปโทกราฟฟี แทนที่จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อใจ […]

ต้นตอของปัญหาในระบบการเงินโดยทั่วไปอยู่ที่ความจำเป็นต้องอาศัยความเชื่อใจ เราจำเป็นต้องเชื่อใจว่าธนาคารกลางจะไม่บั่นทอนมูลค่าของสกุลเงิน แต่ประวัติศาสตร์ของเงินตรารัฐบาลกลับเต็มไปด้วยการล่วงละเมิดความเชื่อใจดังกล่าว เราจำเป็นต้องเชื่อใจว่าธนาคารจะเก็บเงินของเราเอาไว้ และคอยทำหน้าที่รับส่งเงินของเราผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่พวกเขากลับนำมันไปปล่อยกู้จนเกิดเป็นคลื่นของฟองสบู่สินเชื่อโดยแทบไม่เหลือเงินเก็บไว้เลยด้วยซ้ำ เราจำเป็นต้องเชื่อใจว่าพวกเขาจะปกป้องความเป็นส่วนตัวของพวกเรา เชื่อใจว่าพวกเขาจะไม่ยอมให้มิจฉาชีพทำการสวมรอยขโมยเงินของเราจนหมดบัญชีได้ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติการอันมากมายมหาศาลของพวกเขายังทำให้การใช้จ่ายเงินขนาดเล็กมากๆ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกด้วย

ในสมัยก่อน ระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้คนจำนวนมากจำเป็นต้องผลัดกันใช้งานก็ประสบปัญหาคล้ายๆ กัน ก่อนที่จะมีระบบการเข้ารหัสที่แข็งแกร่ง ผู้ใช้งานจำเป็นต้องไว้ใจระบบรหัสผ่าน (password) ในการปกป้องไฟล์ของพวกเขา […]

เมื่อผู้คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงระบบการเข้ารหัสที่แข็งแกร่งได้ ผู้คนก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยความเชื่อใจอีกต่อไป ข้อมูลสามารถถูกเก็บรักษาในลักษณะที่ทำให้การเข้าถึงทางกายภาพเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ไม่ว่าจะด้วยข้ออ้างใด ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม

มันถึงเวลาที่เราจะมีเงินลักษณะเช่นเดียวกันแล้ว สกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำงานบนพื้นฐานของหลักฐานทางคริปโทกราฟฟีที่ไม่จำเป็นต้องเชื่อใจบุคคลที่สามใดๆ จะสามารถทำให้เงินมีความปลอดภัย และการทำธุรกรรมก็จะสามารถทำได้อย่างง่ายดาย

บิตคอยน์แก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการใช้ระบบเครือข่ายแบบเพียร์-ทู-เพียร์ เพื่อตรวจสอบการทำธุรกรรมซ้ำซ้อน (double spending) โดยหลักการแล้ว ระบบเครือข่ายจะทำงานเสมือนกับเซิร์ฟเวอร์ประทับเวลาไร้ศูนย์กลาง ที่จะคอยประทับเวลาให้กับธุรกรรมการใช้เหรียญที่เกิดขึ้น มันใช้ประโยชน์จากธรรมชาติของข้อมูลที่เป็นสิ่งที่ง่ายต่อการแพร่กระจาย แต่ยากที่จะยับยั้ง สำหรับรายละเอียดว่ามันทำงานอย่างไร อ่านเอกสารรายละเอียดการออกแบบได้ที่ http://www.bitcoin.org/bitcoin.pdf

ซาโตชิ นากาโมโตะ

มันแก้ปัญหาอะไร?

พวกเราลองมาอ่านโพสต์ของซาโตชิไปด้วยกันทีละส่วน ตลอดหนังสือเล่มนี้เราจะอธิบายว่าแนวความคิดเหล่านี้ถูกนำมาประยุกต์ใช้งานอย่างไร ไม่ต้องกังวลหากรู้สึกว่าบางสิ่งบางอย่างอาจเป็นเรื่องแปลกใหม่ในตอนนี้ เนื่องจากเราจะค่อยๆ อธิบายมันอย่างละเอียดในภายหลัง ใจความสำคัญของบทนี้คือการทำความเข้าใจเป้าหมายของซาโตชิ เพื่อที่เราจะได้เข้าใจเป้าหมายในแบบฝึกหัดการประดิษฐ์คิดค้นบิตคอยน์ของพวกเราต่อไป

เราได้สร้างระบบเงินสดอิเล็กทรอนิกส์ (e-cash) แบบ P2P ที่มีซอร์สโค้ดเปิดเผย (open-source) ขึ้นมาใหม่…

P2P ย่อมาจาก เพียร์-ทู-เพียร์ (Peer-to-peer) ซึ่งหมายถึงระบบที่คนคนหนึ่ง สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับคนอีกคนหนึ่งได้โดยไม่มีใครอยู่ตรงกลางในฐานะของสมาชิกในระบบที่เท่าเทียมกัน คุณอาจนึกถึงระบบเทคโนโลยีการแบ่งปันไฟล์แบบ P2P อย่างเช่น Napster, Kazaa, และ BitTorrent ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้ผู้คนสามารถแบ่งปันเสียงเพลง และภาพยนตร์ให้กันและกันได้ โดยไม่ต้องมีตัวกลาง ซาโตชิได้ออกแบบบิตคอยน์ในลักษณะเดียวกัน เพื่อให้ผู้คนสามารถทำการแลกเปลี่ยนเงินสดอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างกันได้โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวกลาง

นอกจากนั้น ซอฟต์แวร์ยังเป็นซอฟต์แวร์แบบโอเพนซอร์ส (open source) หรือซอฟต์แวร์ที่มีซอร์สโค้ดเปิดเผย ซึ่งหมายความว่า ใครๆ ก็สามารถดูได้ว่ามันทำงานอย่างไร และช่วยกันพัฒนามันได้ สิ่งนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากมันเป็นการกำจัดความจำเป็นที่จะต้องเชื่อใจซาโตชิออกไปด้วย เราไม่จำเป็นต้องเชื่อในสิ่งที่ซาโตชิได้กล่าวในโพสต์ของเขาเกี่ยวกับวิธีการทำงานของซอฟต์แวร์เลยแม้แต่คำเดียว เราสามารถดูโค้ด และตรวจสอบว่ามันทำงานอย่างไรได้ด้วยตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้น เรายังสามารถแก้ไขโค้ดเพื่อพัฒนาความสามารถของระบบได้ด้วยเช่นกัน

มันเป็นระบบที่ไร้ศูนย์กลางโดยแท้จริง ไม่มีเซิร์ฟเวอร์ส่วนกลาง ไม่จำเป็นต้องอาศัยความเชื่อถือตัวกลางใดๆ …

ซาโตชิกล่าวว่าระบบดังกล่าวเป็นระบบไร้ศูนย์กลาง เพื่อเป็นการแยกแยะมันออกจากระบบที่มีการควบคุมโดยศูนย์กลาง ความพยายามในการสร้างเงินสดดิจิทัลก่อนหน้าบิตคอยน์ อย่างเช่นดิจิแคช โดย เดวิด ชอม (Digicash, David Chaum) ทำงานอยู่บนเซิร์ฟเวอร์กลาง ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์หรือกลุ่มของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีหน้าที่ผลิตเงินและตรวจสอบธุรกรรมการเงินที่อยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทเพียงบริษัทเดียว

จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจแต่อย่างใด ที่ระบบเงินของบริษัทเอกชนที่มีการควบคุมแบบรวมศูนย์ จะประสบความล้มเหลวอย่างเลี่ยงไม่ได้ ไม่มีใครไว้ใจเงินที่สามารถหายไปได้เมื่อบริษัทปิดกิจการลง, โดนแฮก, เซิร์ฟเวอร์ล่ม, หรือถูกระงับกิจการโดยรัฐบาล

ในทางตรงกันข้าม บิตคอยน์ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่มันทำงานอยู่บนระบบโครงข่ายของผู้คน และบริษัทต่างๆ มากมายทั่วทั้งโลก การที่จะหยุดการทำงานของบิตคอยน์ จำเป็นต้องหยุดการทำงานของคอมพิวเตอร์นับหมื่นนับแสนเครื่องทั่วโลก โดยมีคอมพิวเตอร์จำนวนมากที่ไม่เปิดเผยตำแหน่งที่ตั้งด้วยซ้ำ มันจึงเป็นเหมือนเกมตีตัวตุ่นที่ไม่มีทางเอาชนะได้ เนื่องจากการโจมตีระบบในลักษณะดังกล่าว มีแต่จะกระตุ้นให้เกิดการสร้างโหนดบิตคอยน์ หรือคอมพิวเตอร์ที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก

… ทุกสิ่งทุกอย่างตั้งอยู่บนกลไกหลักฐานที่พิสูจน์ได้ด้วยคริปโทกราฟฟี แทนที่จะตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อใจ

อินเทอร์เน็ต รวมไปถึงระบบคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ ล้วนทำงานอยู่บนพื้นฐานของวิทยาการการเข้ารหัสลับ (คริปโทกราฟฟี) ซึ่งเป็นกรรมวิธีในการอำพรางข้อมูลเพื่อให้มีเพียงผู้รับข้อมูลเท่านั้นที่จะสามารถถอดรหัสได้ ในช่วงท้ายของหนังสือเล่มนี้เราจะกล่าวถึงประเด็นว่าบิตคอยน์กำจัดความต้องการ “ความเชื่อใจ” ออกไปได้อย่างไร แต่โดยหลักการแล้ว แทนที่เราจะปักใจเชื่อเมื่อใครสักคนพูดว่า “ฉันคืออลิซ” หรือ “ฉันมีเงิน $10 อยู่ในบัญชีของฉัน” เราสามารถที่จะใช้หลักการทางคณิตศาสตร์การเข้ารหัสลับเพื่อสื่อถึงสิ่งเดียวกัน ในรูปแบบที่ผู้รับฟังสามารถตรวจสอบหลักฐานได้อย่างง่ายดาย แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะปลอมแปลงหลัดฐานขึ้นมา บิตคอยน์ใช้วิทยาการการเข้ารหัสลับในทุกองค์ประกอบของการออกแบบของมัน เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบพฤติกรรมของทุกคนในระบบได้โดยไม่ต้องเชื่อใจคนกลางคนใดแม้แต่คนเดียว

เราจำเป็นต้องเชื่อใจว่า [ธนาคาร] จะปกป้องความเป็นส่วนตัวของพวกเรา เชื่อใจว่าพวกเขาจะไม่ยอมให้มิจฉาชีพทำการสวมรอยขโมยเงินของเราจนหมดบัญชีได้

บิตคอยน์ต่างจากระบบบัญชีธนาคาร, ระบบชำระเงินดิจิทัล, หรือ บัตรเครดิต ตรงที่บิตคอยน์ทำให้ผู้คนสองฝ่ายสามารถทำธุรกรรมระหว่างกันได้โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวที่ทำให้สามารถระบุตัวตนได้ การที่ธนาคาร, บริษัทบัตรเครดิต, ผู้ให้บริการระบบชำระเงิน, และรัฐบาล เก็บข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าเอาไว้ในมือ ทำให้พวกเขาตกเป็นเป้าโจมตีอันเย้ายวนสำหรับเหล่าแฮกเกอร์ทั้งหลาย เหตุการที่ราวกับจะเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความสำคัญของประเด็นที่ซาโตชิกล่าวถึงนี้ เกิดขึ้นเมื่อ Equifax ถูกเจาะระบบและเกิดการล้วงข้อมูลครั้งใหญ่ในปี 2017 ทำให้มีข้อมูลทางการเงิน และข้อมูลส่วนตัวของลูกค้ากว่า 140 ล้านคนรั่วไหลไปอยู่ในมือแฮกเกอร์จำนวนมาก

บิตคอยน์ ได้แยกความสามารถในการทำธุรกรรมทางการเงินออกจากอัตลักษณ์ตัวตนในโลกแห่งความเป็นจริง เพราะในที่สุดแล้ว เมื่อเรายื่นเงินสดให้กับใคร เขาไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเราเป็นใคร และเราก็ไม่จำเป็นต้องกังวลด้วยว่าเขาจะสามารถนำข้อมูลส่วนตัวของเรามาใช้เป็นเครื่องมือในการขโมยเงินของเราในอนาคตหลังจากที่เราได้จ่ายเงินไปแล้วหรือไม่ แล้วเหตุผลใดเราจึงไม่สามารถคาดหวังในสิ่งที่เท่าเทียม หรือดียิ่งกว่านั้นได้จากเงินดิจิทัล?

เราจำเป็นต้องเชื่อใจว่าธนาคารกลางจะไม่บั่นทอนมูลค่าของสกุลเงิน แต่ประวัติศาสตร์ของเงินตรารัฐบาลกลับเต็มไปด้วยการละเมิดความเชื่อใจดังกล่าว

คำว่า เฟียต(Fiat) ซึ่งเป็นคำในภาษาละตินที่แปลว่า “จงเป็นไปเช่นนั้น” หมายถึง เงินที่ผลิตโดยรัฐบาล และธนาคารกลาง โดยรัฐบาลประกาศให้เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เงินในอดีตถูกสร้างขึ้นจากสิ่งที่ผลิตได้ยาก, ตรวจสอบได้ง่าย, และขนส่งพกพาได้สะดวก ยกตัวอย่างเช่นเปลือกหอย, ลูกปัดแก้ว, เงิน, และทองคำ เป็นต้น เมื่อใดก็ตามที่สิ่งใดถูกนำมาใช้เป็นเงิน ความต้องการที่จะผลิตมันก็จะเพิ่มขึ้นตามมาเสมอ หากใครสักคนสามารถคิดค้นเทคโนโลยีที่เหนือกว่าในการผลิตสิ่งใดสิ่งนั้น สิ่งนั้นก็จะสูญเสียมูลค่าลงไป เหตุนี้เองที่ทำให้นักสำรวจชาวยุโรปสามารถปล้นเอาความมั่งคั่ง และทรัพย์สมบัติจากทวีปแอฟริกาได้ ด้วยการนำเอาลูกปัดแก้วที่พวกเขาผลิตได้อย่างง่ายดาย ไปแลกกับแรงงานทาส ซึ่งไม่สามารถผลิตได้โดยง่าย และด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทองคำได้รับการยอมรับว่าเป็นเงินที่ดีมาอย่างเนิ่นนาน เนื่องจากทองคำไม่สามารถถูกผลิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั่นเอง1

เราค่อยๆ เปลี่ยนมาจากระบบเศรษฐกิจโลกที่ใช้ทองคำเป็นเงิน มาสู่การใช้เอกสารรับฝากทองคำที่สามารถนำไปแลกทองคำได้ จนในที่สุด เงินกระดาษก็ถูกตัดขาดจากการหนุนหลังด้วยสินทรัพย์ทางกายภาพทุกรูปแบบโดยประธานาธิบดีนิกสัน (Nixon) ผู้ปิดประตูในการแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นทองคำในปี 1971

จุดจบของระบบมาตรฐานทองคำได้มอบอำนาจในการผลิตเงินตามอำเภอใจให้กับธนาคารกลาง และรัฐบาลต่างๆ ส่งผลให้มูลค่าของเงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจมีมูลค่าลดลง เรียกว่าเป็น การลดค่าเงิน แม้ว่าเงินเฟียตโดยสมบูรณ์ที่ผลิตโดยรัฐบาล ที่ไม่สามารถนำไปแลกคืนเป็นอะไรได้เลยจะเป็นเงินที่เราใช้กันอย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวัน แต่แท้จริงแล้ว มันเป็นการทดลองระบบการเงินที่ใหม่มากในมุมมองของประวัติศาสตร์โลก

เราต้องเชื่อใจว่ารัฐบาลจะไม่ใช้อำนาจในการผลิตเงินไปในทางที่ผิด แต่เรากลับเห็นตัวอย่างของการล่วงละเมิดความเชื่อใจนั้นอยู่บ่อยครั้ง ภายใต้ระบอบการปกครองเผด็จการรวมศูนย์ ที่รัฐบาลมีอำนาจในการสั่งการเครื่องพิมพ์เงิน เช่นในประเทศเวเนซุเอลา ที่สกุลเงินแทบจะไม่เหลือค่าใดๆ เงินโบลิวาร์ของเวเนซุเอลาลดค่าลงจาก 2 โบลิวาร์ต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐในปี 2009 เหลือเพียง 250,000 โบลิวาร์ต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 และในขณะที่ผมกำลังเขียนหนังสือเล่มนี้ เวเนซุเอลากำลังก้าวเข้าสู่กระบวนการของการล่มสลาย เนื่องจากความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการบริหารระบบเศรษฐกิจของประเทศของรัฐบาล

ซาโตชิต้องการเสนอทางเลือกทดแทนเงินเฟียตที่มีอุปทานเพิ่มขึ้นในลักษณะที่ไม่อาจคาดเดาได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด การลดค่าเงิน ซาโตชิจึงออกแบบระบบของเงินที่มีปริมาณอุปทานจำกัด และมีอัตราการผลิตที่สม่ำเสมอคาดเดาได้และไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ในที่สุดแล้วจะมีบิตคอยน์เพียง 21 ล้านบิตคอยน์เท่านั้น และ แต่ละบิตคอยน์สามารถแบ่งเป็นหน่วยย่อยที่ถูกเรียกว่า ซาโตชิ ได้อีก 100 ล้านหน่วย ทำให้เมื่อถึงปี 2140 โดยประมาณ จะมีซาโตชิหมุนเวียนอยู่ในระบบเพียง 2,100 ล้านล้านซาโตชิเท่านั้น

ก่อนที่บิตคอยน์จะถือกำเนิดขึ้น มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะป้องกันไม่ให้มีการผลิตสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างไม่จำกัด การก็อปปี้หนังสือดิจิทัล, ไฟล์เพลง, หรือไฟล์หนัง แล้วส่งต่อให้กับเพื่อนของคุณ เป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย และแทบไม่มีต้นทุนใดๆ นอกเสียจากว่าไฟล์เหล่านั้น เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ภายใต้การควบคุมของตัวกลาง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคุณเช่าหนังจาก iTunes คุณจะสามารถดูมันได้บนอุปกรณ์ของคุณเท่านั้น เนื่องจาก iTunes เป็นผู้ควบคุมการใช้งานไฟล์ดังกล่าว และสามารถระงับการเข้าถึงของคุณได้เมื่อระยะเวลาเช่าของคุณหมดลง เช่นเดียวกัน เงินดิจิทัลของคุณก็อยู่ภายใต้การควบคุมของธนาคารที่คุณใช้ มันเป็นหน้าที่ของธนาคารที่จะเก็บบันทึกบัญชี ว่าคุณมีเงินเหลืออยู่เท่าไหร่ และหากคุณต้องการส่งมันไปให้กับคนอื่น ธนาคารสามารถที่จะอนุมัติ หรือปฏิเสธที่จะทำการโอนเงินได้ทุกเมื่อ

บิตคอยน์เป็นระบบเงินดิจิทัลระบบแรกที่สามารถรักษาสถาณะความหายากขาดแคลนเอาไว้ได้โดยไม่ต้องมีตัวกลางใดๆ และมันยังเป็นสินทรัพย์แรกของมนุษยชาติที่มีปริมาณจำกัดอย่างแท้จริง และมีอัตราการผลิตที่ทุกคนสามารถรู้ได้ล่วงหน้าโดยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่แม้แต่โลหะมีค่าอย่างทองคำยังไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากเราสามารถที่จะขุดทองคำเพิ่มขึ้นได้ทุกเมื่อหากมันคุ้มค่าที่จะกระทำเช่นนั้น ลองคิดดูสิว่าหากเราค้นพบอุกกาบาตที่มีทองคำมากกว่าที่เรามีบนโลกถึงสิบเท่า จะเกิดอะไรขึ้นกับราคาของทองคำเมื่อปริมาณอุปทานของมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วขนาดนั้น? แต่บิตคอยน์กลับไม่มีความเสี่ยงจากการค้นพบหรือการควบคุมปริมาณอุปทานในลักษณะดังกล่าว มันเป็นไปไม่ได้ที่จะผลิตบิตคอยน์เพิ่มขึ้น และเราจะอธิบายว่าเพราะเหตุใดในบทหลังๆ

ธรรมชาติของเงิน และ กลไกของระบบการเงินในปัจจุบันเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน และหนังสือเล่มนี้จะไม่ครอบคลุมเนื้อหาเหล่านั้นในเชิงลึก หากคุณต้องการที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยพื้นฐานของเงิน และความเกี่ยวข้องกับบิตคอยน์ผมแนะนำให้เริ่มต้นด้วยการศึกษาหนังสือ เดอะบิตคอยน์แสตนดาร์ด โดยเซเฟอดีน อัมมุส (Saifedean Ammous, The Bitcoin Standard)

ข้อมูลสามารถถูกเก็บรักษาในลักษณะที่ทำให้การเข้าถึงทางกายภาพเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ไม่ว่าจะด้วยข้ออ้างใด ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม […] มันถึงเวลาที่เราจะมีเงินลักษณะเช่นเดียวกันแล้ว

ระบบในการเก็บรักษาเงินที่เราใช้กันอยู่ เช่นการฝากเงินไว้ในธนาคาร ต้องอาศัยความเชื่อใจคนอื่นในการทำหน้าที่แทนเรา การเชื่อใจคนกลางไม่เพียงแต่จะต้องเชื่อใจว่าพวกเขาจะไม่ประสงค์ร้าย หรือทำอะไรโง่ๆ เพียงเท่านั้น แต่ยังจะต้องเชื่อใจว่ารัฐบาลจะไม่ยึด หรืออายัดเงินของคุณผ่านการบังคับใช้อำนาจบนบุคคลผู้เป็นตัวกลาง อย่างไรก็ตาม ครั้งแล้วครั้งเล่า ที่รัฐบาลแสดงให้เห็นว่าพวกเขาสามารถ และได้ทำการปิดกั้นความสามารถในการเข้าถึงเงินของเราเมื่อพวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัย

มันอาจฟังดูเหมือนเรื่องไร้สาระสำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ หรือในประเทศอื่นๆ ที่มีกฎหมายเข้มงวด ที่จะคิดว่าวันหนึ่งเราอาจตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าเงินของเราหายไปแล้ว แต่มันเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ผมเคยโดนระงับบัญชี Paypal เพียงเพราะผมไม่ได้ใช้บัญชีของผมเป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งผมต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ไปกับการดำเนินการเพื่อให้ผมสามารถเข้าถึงเงิน “ของผม” ได้อีกครั้ง ผมยังโชคดีที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ที่ทำให้อย่างน้อยผมยังพอมีความหวังที่จะสามารถได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายได้หาก Paypal อายัดบัญชีผมไป และทำให้ผมยังพอเชื่อใจรัฐบาล และ ธนาคารของผมได้ว่าพวกเขาคงไม่ขโมยเงินในบัญชีของผม

แต่เหตุการณ์ที่เลวร้ายกว่านี้ได้เคยเกิดขึ้น และกำลังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ในประเทศที่มีอิสรภาพน้อยกว่าสหรัฐฯ เช่นกรณีที่ธนาคารต่างๆ ปิดตัวลงระหว่างช่วงการล่มสลายของระบบการเงินในกรีซ ธนาคารในไซปรัสเสนอมาตรการเบล-อิน (bail-in) เพื่อยึดเอาเงินจากลูกค้าของพวกเขา หรือการที่รัฐบาลอินเดียออกประกาศให้ธนบัตรบางประเภทหมดค่าลง เป็นต้น

ในอดีตสหภาพโซเวียตที่ผมเติบโตขึ้นมา มีระบบเศรษฐกิจที่อยู่ภายใต้การควบคุมเบ็ดเสร็จโดยรัฐบาลที่นำไปสู่วิกฤติการขาดแคลนสินค้าครั้งใหญ่ การครอบครองสกุลเงินต่างประเทศอย่างดอลลาร์สหรัฐเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และเมื่อเราต้องการที่จะออกมาจากที่นั่น เราสามารถแลกเงินของเราเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐได้เพียงจำนวนเล็กๆ ต่อคน ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดโดยรัฐบาลซึ่งห่างไกลจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงในตลาดเสรีเท่านั้น เท่ากับว่ารัฐบาลได้ขูดรีดทรัพย์สินเพียงน้อยนิดที่เรามีด้วยการควบคุมเศรษฐกิจ และการไหลเวียนของเงินทุนอย่างเคร่งครัด

ประเทศที่ปกครองโดยระบอบเผด็จการมักจะมีการควบคุมเศรษฐกิจที่เข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนสามารถถอนเงินของพวกเขาออกจากธนาคาร แล้วนำมันออกนอกประเทศ หรือนำมันไปแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินที่ยังพอมีค่าอยู่บ้างบนตลาดเสรี เช่นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ สิ่งนี้เองที่ทำให้รัฐบาลสามารถที่จะทำการทดลองทางเศรษฐกิจอันวิปลาส เช่นการบังคับใช้ระบบสังคมนิยมในสหภาพโซเวียตได้

บิตคอยน์ไม่ได้อาศัยความเชื่อใจในบุคคลที่สามในการเก็บรักษาเงินของคุณให้ปลอดภัย แต่บิตคอยน์ทำให้มันเป็นไปไม่ได้ที่จะมีใครเข้าถึงเงินของคุณได้ หากไม่มีกุญแจพิเศษที่มีเพียงคุณเท่านั้นที่เป็นเจ้าของ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ไม่ว่าจะด้วยข้ออ้างใดก็ตาม ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม การถือครองบิตคอยน์ คือการถือครองกุญแจสู่อิสรภาพทางการเงิน บิตคอยน์คือการแยกเงินออกมาจากรัฐบาล

บิตคอยน์แก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการใช้ระบบเครือข่ายแบบเพียร์-ทู-เพียร์ เพื่อตรวจสอบการทำธุรกรรมซ้ำซ้อน (double spending) […] ระบบเครือข่ายจะทำงานเสมือนกับเซิร์ฟเวอร์ประทับเวลาไร้ศูนย์กลาง ที่จะคอยประทับเวลาให้กับธุรกรรมการใช้เหรียญที่เกิดขึ้น

คำว่า ระบบโครงข่าย หมายถึงแนวความคิดของระบบที่ประกอบไปด้วยคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกันเป็นจำนวนมาก และสามารถส่งข้อความถึงกันและกันได้ ส่วนคำว่า ไร้ศูนย์กลาง หมายถึงการไม่มีหน่วยกลางที่คอยควบคุมระบบ แต่อาศัยความร่วมมือร่วมใจของสมาชิกทุกคนในการทำให้ระบบโครงข่ายทำงานได้ราบรื่น

ในระบบที่ปราศจากอำนาจควบคุมจากศูนย์กลาง การที่เราจะสามารถรู้ได้ว่าไม่มีใครกำลังพยายามโกงระบบอยู่จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก คำว่า การทำธุรกรรมซ้ำซ้อน หมายถึงการใช้เงินจำนวนเดิมซ้ำสองรอบ ปัญหานี้ไม่เกิดกับเงินที่จับต้องได้ทางกายภาพเนื่องจากเมื่อเราใช้มัน มันก็จะหายไปจากมือของเรา แต่ธุรกรรมดิจิทัลกลับสามารถถูกคัดลอกได้เหมือนกับไฟล์เพลง หรือหนัง เมื่อคุณส่งเงินผ่านธนาคาร ธนาคารจะเป็นผู้ควบคุมให้คุณไม่สามารถนำเงินจำนวนนั้นมาใช้ซ้ำอีกครั้งได้ ในระบบที่ไม่มีศูนย์กลางควบคุมเราจึงต้องมีวิธีในการป้องกันไม่ให้เกิดการทำธุรกรรมซ้ำซ้อนในลักษณะนี้ เนื่องจากมันมีค่าเท่ากับการปลอมแปลงเงินนั่นเอง

ซาโตชิกำลังอธิบายว่า สมาชิกในระบบโครงข่ายบิตคอยน์จะช่วยกัน ประทับเวลา (จัดเรียงลำดับ) ธุรกรรมที่เกิดขึ้น ทำให้เรารู้ได้ว่าธุรกรรมใดเกิดขึ้นก่อนหรือหลัง เพื่อที่จะสามารถปฏิเสธความพยายามในการนำเอาเงินที่ใช้ไปแล้วกลับมาใช้ใหม่ ในบทต่อๆ ไปเราจะทำการสร้างระบบนี้ขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ต้น มันเป็นระบบที่ทำให้เราสามารถตรวจสอบการปลอมแปลงเงินได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยหน่วยงานผู้ผลิตเงิน หรือผู้ตรวจสอบธุรกรรมใดๆ

บิทคอยน์ไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ที่ถูกสร้างขึ้นในสุญญากาศ ในเอกสารของเขาซาโตชิอ้างอิงถึงความพยายามครั้งสำคัญในการสร้างระบบที่มีลักษณะใกล้เคียงกันหลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่ บี-มันนี ของเวย ได (Weidai, B-Money) ไปจนถึง แฮชแคช ของอดัม แบค (Adam Back, Hashcash) บิทคอยน์นั้นยืนอยู่บนไหล่ของยักษ์ใหญ่ในขณะที่ยังไม่เคยมีใครค้นพบส่วนผสมที่ประกอบกันอย่างลงตัว บิทคอยน์จึงเป็นระบบสำหรับการผลิต และทำธุรกรรมด้วยเงินดิจิทัลที่มีจำนวนจำกัดและไร้ศูนย์กลางอำนาจใดๆ อย่างแท้จริงเป็นระบบแรก

เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว การลดค่าเงิน และปัญหาจากการมีศูนย์กลางการควบคุมของระบบการเงินในปัจจุบัน ซาโตชิได้แก้ไขโจทย์ในเชิงเทคนิคที่น่าสนใจเป็นจำนวนมาก ดังเช่นโจทย์เหล่านี้:

1. จะสามารถสร้างระบบเครือข่ายเพียร์-ทู-เพียร์ ที่ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ตามความสมัครใจได้อย่างไร

2. ผู้คนที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน และไม่จำเป็นต้องเชื่อใจกันและกัน จะสามารถดูแลบัญชีบันทึกธุรกรรมที่มีมูลค่าได้อย่างไร ในขณะที่อาจมีสมาชิกบางคนไม่ซื่อสัตย์

3. จะทำให้ผู้คนสามารถผลิตเงินที่ไม่สามารถปลอมแปลงได้ด้วยตัวเองได้อย่างไร โดยไม่ต้องอาศัยหน่วยงานกลางในการควบคุมการผลิต ในขณะที่ต้องรักษาปริมาณของเงินให้มีจำนวนจำกัด ไม่ใช่ว่าใครที่เข้ามาใหม่ก็จะสามารถผลิตเงินจำนวนเท่าไดก็ได้ตามอำเภอใจ

ในวันที่บิทคอยน์ถูกเปิดตัวครั้งแรก มีคนเพียงหยิบมือหนึ่งเท่านั้นที่ใช้มัน และติดตั้งซอฟต์แวร์บิทคอยน์ในคอมพิวเตอร์ของพวกเขา เพื่อร่วมเป็นโหนด และช่วยกันทำให้ระบบเครือข่ายบิทคอยน์ทำงานได้ ในเวลานั้นผู้คนส่วนมากคิดว่ามันเป็นเพียงเรื่องตลก หรือไม่ก็คิดว่าอีกไม่นานก็จะมีการค้นพบช่องโหว่ในระบบที่ทำให้มันต้องหยุดทำงานในที่สุด

เมื่อเวลาผ่านไป ผู้คนเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกในระบบเครือข่ายมากขึ้น พวกเขาใช้คอมพิวเตอร์ของพวกเขาในการทำให้ระบบแข็งแกร่งขึ้น และให้คุณค่ากับมันด้วยการนำเอาเงินสกุลอื่นๆ มาแลกเปลี่ยนเป็นบิทคอยน์ หรือรับบิทคอยน์เพื่อแลกกับสินค้า หรือบริการต่างๆ จนมาถึงวันนี้ สิบปีต่อมา มีผู้คนใช้งานบิทคอยน์นับล้านคน มีสมาชิกนับหมื่นนับแสนคนทำหน้าที่เป็นโหนดโดยการติดตั้งซอฟต์แวร์บิทคอยน์ ซึ่งถูกพัฒนาโดยอาสาสมัคร และบริษัทต่างๆ จากทั่วโลกกว่าหลายร้อยคน

เรามาค้นหาแนวทางการสร้างระบบที่มีลักษณะเช่นนี้ขึ้นมากันดีกว่า!

1 สำหรับบทสรุปภาพรวมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทางการเงินที่ดีเยี่ยม ผมแนะนำบทความ Shelling Out โดย Nick Szabo: https://nakamotoinstitude.org/shelling-out/

--

--