ดอยแล้วทำอย่างไรดี?

Piriya Sambandaraksa
4 min readNov 22, 2018

--

ในเวลาที่ราคา Bitcoin ร่วงลงมาขนาดนี้เรามาคุยกันเรื่องการดอยซักนิดดีกว่า

คำถามที่ผมได้รับมากที่สุดคำถามหนึ่ง ซึ่งเป็นคำถามง่ายๆ ที่คำตอบนั้นไม่ง่ายเลยคือ

“อ.ครับ/คะ ดอยตัว XXX อยู่ ตอนนี้ -YY% ทำอย่างไรดี?”

หลายคนถึงกับส่งข้อมูล Portfolio มาให้ดู เพื่อหวังให้ผมช่วยหาทางออกให้ แต่ก็ต้องผิดหวังกันไปหลายต่อหลายคน เมื่อผมไม่มีคำตอบที่จะช่วยฟันธงให้ชีวิตของเค้าเหล่านั้น หลุดพ้นจากอุปสรรค วิบากกรรมนี้ไปได้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นคือ

การ “แก้ดอย” เป็นสิ่งที่คนที่จริงใจกับคุณจะบอกว่ามันไม่มีอยู่จริง

เช่นเดียวกับการค้นหา Holy Grail ในการเทรด ถ้าการ “ดอย” มีวิธีแก้ได้ง่ายๆ การเทรดก็จะไม่มีความเสี่ยงใดๆเหลืออยู่ และนั้นคือ Holy Grail

ประโยคที่ผมคำนึงถึงเสมอ คือ “ผู้ใดที่ออกตามหา Holy Grail ผู้นั้นจะพบกับพ่อค้า Holy Grail” เป็นประโยคที่เคยผ่านตาทาง Facebook และไม่แน่ใจว่าใครเป็นผู้กล่าวไว้ แต่ประโยคนี้พูดถึงความจริงของธรรมชาติมนุษย์ได้อย่างดี

เราจะเลือกฟัง เฉพาะสิ่งที่เราอยากจะฟัง

โดยธรรมชาติมนุษย์ เราจะตามหาสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกดี และนั่นเป็นกลไกที่ทำให้มนุษยชาติอยู่รอดมาได้ถึงทุกวันนี้ แต่มันกลับทำร้ายเราเมื่อเราต้องทำการตัดสินใจด้วยเหตุและผล เราจะเลือกฟัง เฉพาะสิ่งที่เราอยากจะฟัง เราจะเลือกเชื่อ เฉพาะสิ่งที่เราอยากจะเชื่อ การรับข่าวสารข้อมูลเฉพาะส่วนนี้ อยู่นอกเหนือการควบคุมของจิตใจ และเกิดขึ้นตลอดเวลาโดยไม่ได้ตั้งใจ และนี่เป็นหนึ่งในหลายๆช่องทางที่จะทำให้เราตกเป็นเหยื่อของผู้ที่จงใจจะหาทางเอารัดเอาเปรียบเราในยามที่เราอ่อนแอ และเราก็จะยอมให้คนเหล่านั้นเอาเปรียบโดยสมัครใจ เพียงเพราะมันเป็นการตัดสินใจที่ทำให้เรา “รู้สึกดี”

เมื่อเรา “ดอย” จิตใจของเราจะอ่อนแอ และกระบวนการคิดใตร่ตรองอย่างมีเหตุผล จะพ่ายแพ้ต่ออารมณ์และความรู้สึก ดั่งที่ Daniel Kahneman ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนใน Thinking Fast and Slow (2011) และเมื่อจิตใจเราอ่อนแอ เราจะตกเป็นเหยื่ออย่างง่ายดาย จากผู้ที่ยื่นมือเข้ามาเสนอ “ทางออก” ให้กับเรา

ซื้อเพิ่ม ถัว ลดต้นทุน ไม่ขายไม่ขาดทุน

ในหลายๆ “ทางออก” ที่เคยได้ยินผ่านหูผ่านตามาบ้าง วิธีที่เห็นมากที่สุดคือการ “ซื้อถัวเฉลี่ย” ซึ่งเป็นวิธีที่หลายๆคนเลือกที่จะใช้ โดยไม่เข้าใจว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ ในช่วงปีที่ผ่านมา คำว่าซื้อถัว ดูจะได้รับความนิยมลดลงจากเดิม แต่เรากลับได้เห็นศัพท์ใหม่ในวงการตลาดหุ้นไทยคือ DCR หรือ Dollar Cost Average ซึ่งมันก็คือสิ่งเดียวกันกับการ “ซื้อถัว” นั่นเอง

การซื้อถัวเฉลี่ย หรือ DCR เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย เนื่องจากเป็นวิธีที่ทำให้นักลงทุนรู้สึก “สบายใจ” ที่สุด เนื่องจาก

  1. ไม่จำเป็นต้องยอมรับความจริงด้วยการ Cutloss โดยมีเหตุผลเก๋ๆ เช่น ตอนนี้ใกล้จะ Bottom แล้ว Cut ไปก็เด้งใส่หน้า หรือ ไม่ขายไม่ขาดทุน หรือที่ได้ยินมากที่สุด “ช่วงนี้เปลี่ยนมาลงทุนระยะยาวแทน” ทั้งๆที่ตอนซื้อ เข้าตามคนอื่นเค้าไปด้วยความโลภล้วนๆ
  2. ตัวเลข % ขาดทุนลดลง เนื่องจากส่วนที่ซื้อเข้าไปใหม่ ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยลดลง
  3. รู้สึกดีทุกครั้งที่ทำการซื้อเพิ่มเพราะเชื่อว่าคุณได้ “ช้อน” ที่ราคาที่ต่ำแล้ว
  4. ย้ายความรู้สึกรับผิดชอบ มาอยู่ในมือของผู้แนะนำ ไม่ว่าจะเป็น Marketing เซียน ครู กูรู หรืออะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ตัวเอง

แน่นอนว่า ไม่ใช่ว่าการซื้อถั่วเฉลี่ยจะเป็นสิ่งไม่ดีเสมอไป เครื่องมือทุกเครื่องมือ มีประโยชน์เมื่อใช้อย่างถูกต้อง นักลงทุนต้องรู้ว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ และทำไปเพื่ออะไร เพื่อที่จะเลือกใช้เครื่องมือได้อย่างเหมาะสม

DCR เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากในการ “เก็บออม” เมื่อนลท.มี security หรือ asset ที่ต้องการที่จะ “ออม” ความผันผวนของราคาจะไม่ใช่สิ่งสำคัญ ตราบใดที่พื้นฐานของสิ่งที่เราเลือกที่จะออมยังตอบโจทย์ของเราอยู่ เช่น นลท.ก. เลือกที่จะออมเป็นทองคำ นลท.ข. เลือกที่จะออมเป็น Bitcoin เพื่อที่จะลดความเสี่ยงจะการทำลายค่าเงินผ่านการผลิตเงินเพิ่มเพื่อการลงทุนในภาครัฐเป็นต้น ผู้ที่จะ “ออม” ย่อมไม่สวมบทบาท Trader และต้องการที่จะ ลดหรือกำจัดผลกระทบจากความผันผวนของราคาตลาดออกไป

เมื่อเป้าหมายไม่ใช่การเก็งกำไร และโจทย์คือการลดความผันผวนของราคา การทยอยซื้อในลักษณะ DCR หรือ ซื้อถัวเฉลี่ย จึงเป็นคำตอบที่เหมาะสม

ในทางกลับกัน เมื่อนักลงทุนสวมบทบาทของ Trader การซื้อถัวเฉลี่ยจะกลับกลายเป็นดาบที่หันกลับมาทิ่มแทงตัวนลท.เองนั่นเอง

เพราะการซื้อสินค้าที่เรา “ดอย” เพิ่ม ในทางการ trade เป็นการ เพิ่มขนาด position ที่ขาดทุน (Adding to a losing position) แน่นอนว่า % การขาดทุนของคุณอาจลดลง แต่ขนาด Position จะใหญ่ขึ้น และถ้าราคายังไม่หยุดลง การขาดทุนต่อๆมาของคุณก็จะหนักขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต่างอะไรกับการพยายามหาทางออกจากหลุมด้วยการขุดหลุมให้ลึกขึ้นนั่นเอง และในที่สุด นลท.ก็จะมี Position ที่ใหญ่จนไม่สามารถปล่อยให้ขาดทุนต่อไปได้ จนต้องยอมตัดทิ้งและสูญเสียหนักกว่าเดิมนั่นเอง

ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้น เมื่อคุณซื้อถัวเพิ่มจนเงินหมด แต่ราคายังไม่หยุดลง หลายกรณี จะมีผู้แนะนำให้คุณเปลี่ยนเป็นการ Trade ด้วย Margin หมายถึงถ้าคุณมีทุน 1ล้าน คุณจะสามารถซื้อได้ถึง 2ล้าน เป็นต้น (หรือ 100–300ล้านในบางกรณี) โดยมันคือการ “กู้ยืม” เงินจาก Broker มาซื้อสินค้าเพิ่ม และแน่นอนว่าส่วนที่คุณกู้ยืมมานั้น คุณจำเป็นที่จะต้อง “คืน” ซึ่งแปลว่า ราคาหุ้นไม่จำเป็นต้องลงไปถึง 0 คุณก็จะมีสิทธิ์หมดตัวได้เมื่อคุณถูก Margin Call แล้วไม่มีเงินค้ำประกันเติมเข้าไปเพิ่ม

แต่คุณมั่นใจว่าจุดนี้เป็นจุดต่ำสุดแล้ว

ต้องถามว่าคุณมั่นใจจากอะไร คำตอบส่วนใหญ่คือ สำนัก X บอกมา สำนัก Y ก็บอกมา เนี่ย ข่าวก็บอกว่ามันจะฟื้นตัว ฯลฯ

ไม่มีใครบนโลกนี้ รู้ได้แน่ชัดว่าราคาจะไปทางไหน

ในกรณีที่ดี คุณตกเป็นเหยื่อของความรู้เท่าไม่ถึงการ รายการและสื่อ ล้วนต้องการให้นักวิเคราะห์ “ฟันธง” ทั้งสิ้น แต่ผู้ที่เป็นนักวิเคราะห์ที่มีประสปการณ์จะรู้ว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ การวิเคราะห์ตลาดเป็นเรื่องของความน่าจะเป็นและการวางแปนรับมือกับทุกๆความน่าจะเป็นดังกล่าว แต่ถ้าจะต้องมานั่งอธิบาย scenario ความน่าจะเป็นออกสื่อ คงไม่มีใครอยากฟัง

ในกรณีที่ร้ายกว่านั้น คุณตกเป็นเหยื่อของการชักจูงผ่านสื่อ โดยผู้ที่จงใจ manipulate ราคาในระยะสั้นเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว

เวลาที่ผมเองวิเคราะห์กราฟ ก็มักจะให้กรณีที่เป็นไปได้มากกว่าหนึ่ง กรณีเสมอ และนั่นคือความเป็นจริง ทุกสิ่งเกิดขึ้นได้ และผู้วิเคราะห์ต้องพร้อมที่จะผิดเสมอ แต่ผู้วิเคราะห์ที่พร้อมจะผิดเสมอคงจะยากที่จะถูกใจมหาชนนั่นเอง

ถ้ามีใครบอกว่า รู้แน่ ชัวร์ โบราณเค้าบอกให้เอาไม้ไล่ตี

Short สวน / เล่นสั้นมาถัว

อีกแนวทางที่มักจะได้ยินเรื่อยๆ คือการเทรดสวนกับ Position ที่ขาดทุนอยู่ เพื่อเป็นการพยายาม Hedge ความเสี่ยงออกไปบางส่วนหรือทั้งหมด ผ่านเครื่องมือในลักษณะ Derivatives ไม่ว่าจะเป็น Futures หรือ Options Contract

วิธีนี้ จริงๆต้องบอกว่า พอมีความเป็นไปได้อยู่บ้าง แต่ก็เป็นไปไม่ได้ในขณะเดียวกัน

กล่าวคือ เป็นวิธี Trade ขั้นสูง หรือ “ท่ายาก” นั่นเอง ซึ่งผู้ที่จะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นที่จะต้องประกอบด้วย ความรู้ ประสปการณ์ และที่สำคัญที่สุด คือวินัยที่แกร่งกล้า เป็นอย่างมาก ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว Trader ที่เพียบพร้อมด้วยสามสิ่งที่สำคัญนั้น จะไม่มีโอกาส “ดอย” ตั้งแต่แรก และ Trader ที่ “ดอย” ไปแล้ว ก็เป็นเพราะขาดความรู้ ประสปการณ์ และระเบียบวินัยนั่นเอง

หลายครั้งที่ผมได้เห็น Trader หันมาใช้ DW หรือ Options แต่ไม่เข้าใจการคำนวณ Premium และ Time Decay จึงทำให้แทนที่จะลดความเสี่ยงของตัวเองลง กลับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงอย่างทวีคูณโดยไม่รู้ตัว

หรือแม้แต่คนที่เลือกที่จะ Short ใน Futures Contract ก็อาจไม่ได้คำนึงถึง Expiration / Liquidity และ Volatility เมื่อราคาขยับขึ้นมาก็รีบปิด Short แล้วราคาก็กลับลงไป หรือถูกบังคับปิดสถาณะเมื่อไม่สามารถ Rollover contract ได้ทันเวลา ทำให้ขาดทุนระหว่างทางเพิ่มขึ้น

การจะเทรดในตลาด derivatives ต้องมีความรู้ และประสปการณ์ที่มากพอ พร้อมทั้งมีการตั้งเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และแผนการที่ชัดเจน มิเช่นนั้น จะกลายเป็นการเพิ่มความหายนะอย่างไม่รู้ตัว

อีกวิธีที่พบเจอบ่อย คือการลดต้นทุนลง ด้วยการขาย Position ออกบางส่วนและซื้อคืนที่ราคาต่ำลง หรือเป็นเสมือนการ Short against position หรือที่คนไทยเรียกกันว่า DSM หรือ Densri Method

วิธีนี้ จริงๆแล้วเป็นวิธีที่ไม่เลวนัก แต่ผู้กระทำการต้องมีสติ และทำการบันทึกบัญชีให้ดี เพราะการขายออกคือการ realize loss บางส่วน และเมื่อซื้อคืน เราจะลดต้นทุนลงมาได้จริงแต่ก็จะเกิดการขาดทุนขึ้นจริงเช่นกัน โดยวิธีนี้ จะสำเร็จได้ต่อเมื่อ ราคาสามารถกลับไปที่เดิมได้ กำไรที่เราทำได้จากการยอมรับ loss ระหว่างทาง จะเข้ามาเติมในส่วนที่เราต้องยอมเสียไป แต่ถ้าราคาไม่กลับมา เราอาจปิด position ที่กำไร แต่จริงๆแล้วขาดทุนย่อยยับโดยไม่ทันรู้ตัวก็เป็นได้ ซึ่งแน่นอน การฝากอนาคตไว้กับการที่ราคาจะต้องกลับไปที่เดิม ไม่ใช่สิ่งที่ดีนักเนื่องจสกไม่มีใครสามารถรู้อนาคตได้นั่นเอง แต่ก็ยังปลอดภัยกว่าการซื้อถัวเฉลี่ยจนเกินตัว

วิธีสุดท้ายที่จะพูดถึง คือการ ‘เล่นสั้น’ เพื่อมาถัว position ระยะยาว ซึ่งเป็นวิธีที่ผู้มากประสปการณ์สามารถทำให้เกิดประโยชน์ได้เช่นกัน แต่สำหรับมือใหม่ กลับเป็นสิ่งอันตรายได้ไม่น้อยกว่าวิธีอื่นๆเลย

การ ‘เล่นสั้น’ อาจหมายถึง การใช้ระบบซื้อขายที่เร็วขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็น mean reversal system เพื่อทำกำไรระยะสั้น กับดักของวิธีนี้ อยู่ที่การที่นลท.เสียดายกำไรระยะยาว และมักยื่นมือเข้าไป “แก้ไข” คำสั่ง เพื่อทำกำไรระยะยาวได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเปิดประตูความเสี่ยงเพิ่มเติม สิ่งที่เราต้องเข้าใจคือ Position ที่ค้างอยู่ของเราคือ Position ระยะยาว และ Position ที่เปิดใหม่คือระยะสั้น ต้องแยกเป้าหมายกันให้ชัดเจน และสอง position นี้จะทำหน้าที่สนับสนุนกันได้ เช่นถ้า position ระยะยาว เป็น Long postion ระยะสั้นก็ควร Bias ทาง Short เพื่อให้ Long position ป้องกัน Loss ของ short position ได้เป็นต้น

ปัญหาสำคัญคือ ผู้ที่จะทำเช่นนี้ได้ ต้องมีระบบการเทรดที่ชัดเจน และมีวินัยที่สูงพอที่จะทำตามระบบที่ขัดแย้งกันได้อย่างไม่มีอารมณ์มาเกี่ยวข้อง ผู้ที่สามารถทำได้แบบนั้น ย่อมไม่มีวัน “ดอย” ตั้งแต่แรกอยู่แล้วนั่นเอง

ปัญหาที่สอง คือถ้าทำสำเร็จ กำไรจาก position ระยะสั้น จะต้องเอาไปซื้อ position ระยะยาวเพิ่มเพื่อถัวราคา แต่นั่นก็ทำได้ยากเพราะทุกคนอยากเห็นกำไรเป็นกำไร และมักนำไปทำอย่างอื่น จึงเป็นการเพิ่ใความเสี่ยงให้กับ position โดยไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าจะเอามาถัว แล้วถ้ามันไม่ขึ้นจำทำอย่างไร เหนื่อยแทบตายต้องเอากำไรมาโยนทิ้ง? นั่นคือความสำคัญของการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ที่แม้จะขัดต่อความรู้สึกก็ยังต้องปฏิบัติตามนั่นเอง

กรณีหนึ่งที่วิธีนี้อาจมีประโยชน์ และตัวผมเองก็ใช้อยู่ คือการแยก Portfolio ออกด้วยเป้าหมายที่ต่างกัน โดย Portfolio สำหรับเก็บออม จะทำหน้าที่เก็บออมเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อ ลดความผันผวนของมูลค่า portfolio เราอาจมี portfolio ระยะกลาง และระยะสั้น สำหรับ Trade ในทิศทางตรงกันข้ามด้วยระบบที่ต่างกัน ไม่ใช่เพื่อกำไรที่เพิ่มขึ้น แต่เพื่อรักษาเสถียรภาพของ position โดยรวม เป็นต้น

สิ่งที่สำคัญคือจะทำอย่างไรต่อไป

สิ่งหนึ่งที่ผมมักจะพูดเสมอ คือ การดอยนั้น ไม่ได้แปลว่าเราผิด แต่เราจะผิดต่อเมื่อเราดอยแล้วไม่เรียนรู้อะไร

ที่พูดอย่างนี้ เพราะ Trader และนักลงทุนเกือบทุกคน เริ่มต้นจากการ “ดอย” ทั้งสิ้น ตลาดที่กำลังซบเซา ไม่ดึงดูดผู้เล่นใหม่ๆ เท่ากับตลาดในช่วงฟองสบู่แน่นอน

แต่ในขณะที่เทรดเดอร์มือใหม่จำนวนมาก เลือกที่จะยอมแพ้ (ซึ่งก็โอเค) และหายตัวไป ก็มีอีกกลุ่มหนึ่งที่เลือกที่จะโทษทุกอย่าง โทษตลาด โทษมาร์ โทษเจ้า โทษฟ้า โทษดวง แล้วอาจยอมแพ้หรือไม่ยอมแพ้ แต่เทรดเดอร์กลุ่มนี้จะไม่มีวันพัฒนา ตราบใดที่ไม่สามารถที่จะหยุด คิด เรียนรู้ถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

Trader ที่ประสพความสำเร็จ คือคนที่เมื่อพลาดแล้ว คิด วิเคราะห์ หาทางแก้ไขปรับปรุง และใช้ความผิดพลาด เป็นบทเรียนที่จะพาเค้าไปสู่ความสำเร็จ

สิ่งสำคัญที่ผมย้ำเสมอตลอดบทความนี้ คือ ความรู้ ประสปการณ์ และระเบียบวินัย

ถ้าเราคิดว่าเรารู้หมดแล้ว แปลว่าเรายังรู้น้อยเกินไป

ในฐานะผู้ที่ศึกษาศาสตร์และศิลป์ของการลงทุนมากว่าสิบปี (และการศึกษาภายใต้คุณพ่อที่เทรดมาเกือบทั้งชีวิต)ผมต้องบอกเลยว่า ยิ่งเรารู้มาก เราจะรู้ว่าเรารู้น้อยเพียงใด แต่ภายใต้ความรู้สึกไม่มั่นใจที่เพิ่มขึ้น ก็มีความอยากจะฝากข้อคิดให้มือใหม่ไว้เช่นกัน

ความรู้ เป็นสิ่งสำคัญ

เราเลือกซื้ออะไร เพราะอะไร อย่างไร เท่าไหร่ ความรู้จะทำให้เรามี “ระบบ” การซื้อขาย มี “ระบบ” การบริหารความเสี่ยง มี “ระบบ” การบริหารจิตใจที่ดี

Trader มือใหม่ที่ไม่มี “ระบบ” เมื่อผิดพลาด ก็จะไม่สามารถประเมินได้ ว่าการผิดพลาดนั้น เป็นความผิดพลาดจริงๆ หรือเป็นการขาดทุนที่เป็นปรกติของระบบ

การ Trade เป็นเรื่องของความน่าจะเป็น เมื่อเราขาดระบบที่ชัดเจนและการจดบันทึกที่ดี เราจะไม่สามารถมองเห็นความน่าจะเป็น แต่จะให้ความสำคัญกับเหตุการณ์มากเกินความจำเป็น จนไม่สามารถแยกแยะ ประสิทธิภาพ กับโชคดวง ออกจากกันได้ การมีระบบ ทั้งสำหรับการคัดเลือกสินค้า การซื้อขาย การกำหนดขนาด การบันทึกบัญชี จึงเป็นสิ่งจำเป็นขั้นที่หนึ่ง ที่ Trader ทุกคนจำเป็นต้องมี

ตลาดเป็นที่ที่คนที่ไม่มีความรู้ก็สามารถคิดว่าตนมีความรู้ได้ แต่ผู้ใดที่ดูถูกตลาด ผู้นั้นย่อมพบกับความหายนะ ผู้ที่จะอยู่รอดได้ จึงต้องลงทุนเวลาเป็นอย่างแรก ในการศึกษาหาความรู้ให้เพียงพอที่จะป้องกันตนเองได้ในสนามรบแห่งนี้

ประสปการณ์จะมีได้ต้องอยู่รอด

ทุกคน Trade เพื่อหวังรวยข้ามคืน แต่ถ้าเราได้อ่านหนังสือเช่น Market Wizards โดย Jack Schwagger หรือ Reminiscent of a stock operator โดย Edwin Lefèvre หรือ How I made $2,000,000 in the stock market โดย Nicholas Darvas หรือหนังสืออื่นๆอีกมากมาย เราจะเห็นได้ว่า การ Trade เป็นการเดินทางตลอดชีวิต (Life-long journey) และผู้ที่ประสพความ ‘สำเร็จ’ ล้วนเป็นผู้ที่สามารถอยู่รอดได้ และเรียนรู้จากข้อผิดพลาดได้นั่นเอง

แต่เราจะไม่สามารถอยู่รอดเพื่อมีประสพการณ์ได้ถ้าขาดความรู้

วินัยคือหัวใจสำคัญ

ความรู้และประสพการณ์ทั้งโลก ก็ไร้ความหมาย ถ้าเราขาดวินัยที่จะทำตามมัน

การเทรดนั้นคือ 100% จิตวิทยา (Van K. Tharp., PhD) ตลาดเป็นสถานที่ที่น่าสนใจที่สุดที่หนึ่ง เพราะมันเป็นที่ที่มนุษย์ต่อสู้กันด้วยจิตใจล้วนๆ และผู้ที่สามารถเข้าใจ และจัดการกับความโลภ และความกลัวได้เท่านั้น ที่จะสามารถประสพความสำเร็จได้

แต่การพัฒนาทางจิตวิทยา และระเบียบวินัยยั้น จำเป็นต้องใช้เวลานาน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ trader จะต้องสามารถรักษาตัวให้รอดพ้นจากการล้มละลายได้นานพอนั่นเอง

จึงมาถึงคำตอบที่ผมให้กับทุกคนที่ “ดอย” มา นั่นคือ ผมไม่สามารถแก้ดอยให้คุณได้ แต่ละคนมีสถานการณ์และข้อจำกัดที่แตกต่างกันและไม่มีทางออกไหนที่ใช้ได้กับทุกคน แต่สิ่งที่สำคัญคือ คุณได้เรียนรู้อะไรจากการดอยนี้บ้าง เลิกโทษคนอื่นและวิเคราะห์ขั้นตอนในการตัดสินใจของเรา หาช่องโหว่และจุดอ่อน มันอาจเป็นเพราะคุณไม่มีความรู้ ไม่มีระบบ หรืออาจเป็นเพราะคุณหูเบา มีระบบแต่ก็ยังยั้งใจไม่ได้

จากนั้นก็เริ่มลงทุนเวลา หาความรู้ให้มาก อ่านให้เยอะ เก็บประสปการณ์ให้ได้ ป้องกันความเสี่ยงและเรียนรู้ที่จะอยู่รอดให้ได้ นั่นควรจะเป็นเป้าหมายแรกของคุณ ก่อนจะรวยได้มันต้องไม่ตาย ก่อนจะวิ่งได้ มันต้องหัดเดินให้ไม่ล้มก่อน อย่าดูถูกวิชาชีพและให้เวลากับมัน ใช้บทเรียนจากความผิดพลาดให้คุ้มค่าที่สุด มันคือค่าเทอมและคุณได้เรียนรู้อะไรจากมัน และจากนี้คุณจะผิดพลาดอีกมาก เรียนรู้จากมันทุกครั้ง ประสปการณ์จะช่วยให้คุณแข็งแกร่งขึ้น และความรู้จะช่วยให้คุณหลักแหลมขึ้น

ตลาด และโอกาส ไม่หนีไปไหน ใช้เวลา เรียนรู้ พัฒนา

--

--