Brock Pierce, snaking in on El Salvador

Piriya Sambandaraksa
4 min readJun 19, 2021

--

ประเด็นหนังสือพิมพ์ Noticia ขึ้นหน้าหนึ่ง ฉบับวันที่ 10 มิ.ย. 2021
“เพียร์ซนำทัพตัวแทนผู้นำธุรกิจคริปโตในเอลซัลวาดอร์ “
ยังไม่จบ!

ไหนๆ เมื่อวานก็พูดถึงแล้ว วันนี้มาคุยกันต่อเลยดีกว่า

ใครไม่ทันโพสต์เมื่อวาน ตามอ่านได้จากที่นี่

https://www.facebook.com/piriya33/posts/10160141435201800

หลังจากที่โดน Twitter จับโป๊ะไปเมื่อวาน ว่าหนังสือพิมพ์ Noticia ที่เพียร์ซเอามาโพสต์อวดบน Twitter นั้น ไม่รู้ทำไมถึงไม่เหมือนกับหนังสือพิมพ์ Noticia ฉบับจริงที่วางขาย และ อยู่บน Website ของ noticiali.com

เช้าวันนี้ก็มีโพสต์ขึ้นมาค้าน ว่าหนังสือพิมพ์ที่เพียร์ซโพสต์น่ะ มีจริงๆ นะ

เรามาไล่ดูกันไปทีละคนที่พยายามมาปกป้องเพียร์ซกัน แล้วมาดูว่ามันทำกันขนาดไหน

ภาพถ่ายหนังสือพิมพ์ที่เป็นข้อถกเถียงจากโรงแรมในเอลซัลวาดอร์

@justinwnewton โพสต์ว่า

“เฮ่ ทุกคน วันก่อนผมอยู่ที่เอลซัลวาดอร์ และผมก็มีหนังสือพิมพ์ที่ผมหยิบมาจากล็อบบี้โรงแรมจริงๆ นะ”

ต่อมา @lukestokes ก็ได้โพสต์รูปในลักษณะเดียวกัน

“ผมมีหนังสือพิมพ์ฉบับจริงที่ผมได้รับมาโดยตรงจากกองหนังสือพิมพ์ในโรงแรมอยู่ในมือ นี่คือรูปถ่ายพร้อมกับ[บิตคอยน์]บล็อคล่าสุด เพื่อเป็นการยืนยัน

ดูเหมือนว่าพวกเขาจะเปลี่ยนเนื้อหาในฉบับดิจิทัล หรือว่าจะเป็นเพราะปีเตอร์ (Peter McCormack) ไปบอกท่านประธานาธิบดีว่าเขาคิดอย่างไรกับบร็อค พวกเขาเลยต้องเปลี่ยนกันนะ?”

เมื่อมีคนถามว่าเขาอยู่ที่โรงแรมอะไร Luke ก็ตอบว่า Sheraton Presidente San Salvadore Hotel

ตามด้วยภรรยาของนายเพียร์ซเอง ผู้ระบุใน twitter profile ของเธอเองว่าเธอคือ “The FIrst Lady of Crypto”

และแน่นอนว่า ในที่สุด เว็บไซต์ noticiali.com ก็ได้ทำการอัพเดตเพิ่มเติมฉบับที่มีข่าวดังกล่าว เป็น “Special Edition” (เสียดายเมื่อวานไม่ได้ save screenshot ก่อนที่จะเพิ่มเข้ามาไว้ และใน waybackmachine ก็ไม่ได้ save snapshot ไว้ทุกวันเสียด้วย)

Noticialli แสดงหนังสือพิมพ์ฉบับพิเศษที่ลงข่าวบร็อค เพียร์ซ ในวันเดียวกัน

สรุปว่า หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวไม่ใช่ภาพตัดต่อ! แต่มันมีจริง!

นี่เป็นอีกครั้งที่ BitcoinTwitter ตื่นตูมกันไปเองสินะ? หรือไม่ใช่? แน่นอนว่าเรื่องราวมันไม่ได้จบแค่นั้น หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจที่ชาวทวิตเตอร์ได้ตั้งประเด็นขึ้นมาก็คือ หนังสือพิมพ์ Noticia นั้น ไม่ใช่หนังสือพิมพ์ในเอลซัลวาดอร์!

Noticia มีการตีพิมพ์เพียงสองที่คือ New York และ Long Island ใกล้ๆ NY เท่านั้น

แล้วมันไปทำอะไรอยู่ในโรงแรมในเอลซัลวาดอร์

เมื่อมองย้อนมาถึงทวีตที่ออกมาบอกพร้อมๆ กันว่า มันมีจริงนะ! จะเห็นว่ามันเกิดขึ้นในเวลาพร้อมๆ กัน ด้วยเรื่องราวเดียวกัน นั่นก็คือพวกเขาหยิบมันมาจากล๊อบบี้ในโรงแรม Sheraton President ในซัลวาดอร์ ซึ่งเป็นโรงแรมที่ “คณะตัวแทนบิตคอยน์อย่างเป็นทางการ” ได้เข้าพักในขณะที่เดินทางไปเข้าพบรัฐบาลเอลซัลวาดอร์นั่นเอง

ใช่ครับ Twitter account เหล่านั้นคือคนที่แอบอ้างว่าพวกเขาคือตัวแทนอย่างเป็นทางการของบิตคอยน์

เมื่อสืบประวัติหนังสือพิมพ์ Noticia ต่อไป ก็พบว่า Noticia เป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเล็กๆ ที่ทำขึ้นสำหรับชาวเอลซัลวาดอร์ที่อาศัยอยู่ในมหานครนิวยอร์ค และ ลองไอแลนด์ ที่อยู่ภายใต้สำนักพิมพ์ Schneps Media ที่มีชื่อเสียงทางลบ ว่าเป็นสำนักพิมพ์ที่เผยแพร่ fake news และเขียนบนความรับจ้าง เขียนโฆษณาในรูปของข่าวมามากมาย ที่ได้กว้านซื้อสื่อเล็กๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการทำกำไรจากการรับจ้างเขียนข่าวอย่างโจ่งแจ้ง

https://www.nydailynews.com/news/politics/ny-schneps-media-one-brooklyn-newspaper-borough-president-eric-adams-20191209-zesejelixzagzmc4euvlpo7x7e-story.html

Schneps ยังอยู่เบื้องหลัง One Brooklyn หนังสือพิมพ์ที่เสนอบทควมชวนเชื่อด้วยบทความที่ไม่เป็นจริงเพื่อสนับสนุน Eric Adams ในการสมัครเลือกตั้งเป็นผู้ว่า Brooklyn

เอาล่ะ แค่นี้ยังแปลกไม่พอ หนังสือพิมพ์เล็กๆ ที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ที่ชื่อเสียงไม่ค่อยดีเท่าไหร่ในนิวยอร์ค เดินทางกว่า 2,000 ไมล์ไปอยู่ที่ล็อบบี้โรงแรมในเอลซัลวาดอร์ได้อย่างไร และทำไมถึงเป็น Special Edition ที่หาที่อื่นอีกไม่ได้อีกด้วย?

จากการศึกษาเพิ่มเติม พบว่า บร็อค เพียร์ซ ได้เคยจ้างวาน Schneps Media ให้เขียนข่าวเกี่ยวกับเขาในช่วงที่เขาลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นเงินหลักแสนดอลลาร์ โดย Schneps ได้ใช้สื่อต่างๆที่มีอยู่ในมือ เสนอภาพว่าเพียร์ซเป็นพ่อพระ โดยทำเป็นลืมประวัติเรื่องอื้อฉาว ฉ้อโกง และ ความเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ของ Epstein ไปเสียหมด

https://docquery.fec.gov/pdf/635/202012039342661635/202012039342661635.pdf

มาถึงจุดนี้ ถึงแม้ว่าไม่มีใครรู้ความจริงแน่ชัดนอกจากเพียร์ซเอง แต่มันคงไม่ใช่เรื่องเกินจริง ถ้าจะคาดเดาจากความเกี่ยวข้องของเพียร์ซและ Schneps ว่านี่คืองานจ้างวานเขียนบทความเชิดชูเป็นฉบับพิเศษ (สงสัยเงินไม่พอลงฉบับทั่วไป) แล้วเพียร์ซเองเป็นคนที่ขนหนังสือพิมพ์เหล่านี้ เดินทางเป็นระยะทางกว่า 3,200 กม. ไปยังล็อบบี้โรงแรมในเอลซัลวาดอร์ที่แขกของเขาจะเข้าพัก

เอาล่ะ ก็สรุปได้ว่าไม่ใช่ photoshop เป็นอย่างน้อย

แต่บทความที่สร้างขึ้นก็เป็นผลงานที่มีคุณภาพต่ำในเชิงเปรียบเทียบ รูปขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ ไม่สามารถหารูปได้ดีกว่ารูปติดบัตรของคนสองคนที่ ‘มาพบกัน’ ในงานสัมมนาที่เป็นข่าวระดับชาติ?

ยิ่งเมื่อเปิดเข้าไปหน้า 8 จะเห็นว่า รูปของ Nayib Bukele ทั้งหมดเป็นรูปที่ตัดมาจากที่อื่น เนื่องจากท่านประธานาธิบดีไม่ได้เข้าร่วมการประชุมด้วยซ้ำ มีเพียงข้าราชการกลุ่มหนึ่ง ในงานประชุมที่จัดโดยทูตเอลซัลวาดอร์ประจำสหรัฐอเมริกา มิเลนา มายอร์กา (Milena Mayorga) เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ประหลาดมากเมื่อเราคิดย้อนกลับมาว่า นี่คือรัฐบาลที่ประธานาธิบดีเพิ่งประกาศให้ใช้บิตคอยน์เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไปเร็วๆ นี้

@MilenaMayorga
ในห้องที่เต็มไปด้วย scammer ไม่มีวี่แววของประธานาธิบดีในการ ‘เข้าพบประธานาธิบดี’

แต่นี่คือสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความไม่ตรงไปตรงมาของคนเหล่านี้ คนที่เรียกตัวเองว่าเป็น President of Bitcoin (โอเค เขาได้รับการแต่งตั้งจาก มูลนิธิบิตคอยน์ ที่เขาก่อตั้งเองในปี 2012 ) แอบอ้างความสำเร็จ ที่ชาวเอลซัลวาดอร์ และ ทีมงานจากทั้ง Bitcoinbeach และ Strike ได้ตรากตรำทำกันมากว่าสองปี เพื่อที่จะสวมรอยและพยายามแทรกแซงผลประโยชน์ของตนเองเข้าไปในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้

แล้วทำไมเรื่องนี้ถึงอันตราย และ ควรถูกพูดถึง? ในบทความที่ลงใน Noticia กล่าวไว้ดังนี้

June 8-10/2021 Brock Pierce มหาเศรษฐีและประธานมูลนิธิบิตคอยน์ เข้าพบหน่วยงานข้าราชการเอล ซัลวาดอร์: อเมริกากลางกำลังกลายเป็นศูนย์กลางการพัฒนาคริปโทเคอร์เรนซีอย่างรวดเร็ว และที่ใจกลางความเปลี่ยนแปลงนี้ก็คือประเทศเอล ซัลวาดอร์ ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีแห่งเอลซัลวาดอร์ นายิบ บูเคเล ได้ประกาศจากกรุงซาน ซัลวาดอร์ ว่าประเทศเอลซัลวาดอร์จะสร้างกฎหมายเพื่อรองรับบิตคอยน์เป็นสกุลเงินตามกฎหมาย หลังจากนั้นไม่นาน บิตคอยน์ สกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซีที่เก่าแก่ และมีเสถียรภาพสูงสุดในโลก ก็ได้กลายเป็นเงินถูกกฎหมาย ทำให้รัฐบาลเอลซัลวาดอร์กลายเป็นรัฐบาลที่ก้าวหน้าทางด้านคริปโทเคอร์เรนซีมากที่สุดในโลก

สถานะทางกฎหมายใหม่ของบิตคอยน์นั้น หมายความว่า ในทุกส่วนของระบบเศรษฐกิจ รวมไปถึงการทำธุรกรรมกับรัฐบาลนั้น ทุกคนมีความจำเป็น “ต้องรับบิตคอยน์เป็นการชำระเงิน เมื่อผู้ซื้อสินค้าและบริการเสนอที่จะชำระด้วยบิตคอยน์”

บร็อค เพียร์ซ ประธานแห่งมูลนิธิบิตคอยน์ ผู้เป็นหนึ่งในผู้มีอิทธิพลในโลกของคริปโทเคอร์เรนซี ตื่นเต้นดีใจกับข่าวดังกล่าวเป็นอย่างมาก และได้จัดการประชุมกับเอกอัครราชทูตเอลซัลวาดอร์ประจำสหรัฐอเมริกาโดยทันที เพียร์ซ ผู้ซึ่งเป็นนักนวัตกรรมคนแรกๆ ที่ลงทุนในเทคโนโลยีบล็อกเชน และเป็นผู้บุกเบิกคริปโทเคอร์เรนซี เห็นถึงศักยภาพของคริปโทเคอร์เรนซี โดยเฉพาะบิตคอยน์ ตั้งแต่ในช่วงเริ่มต้น ว่าจะสามารถเปลี่ยนโลกของการเงินระหว่างประเทศ และทำให้ผู้คนนับล้านในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงทุนทรัพย์และความมั่งคั่งได้

จากนี้ บร็อคจะนำพาคณะผู้แทนผู้นำทางธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านคริปโทเคอร์เรนซี และ ผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี เข้าสู่กรุงซานซัลวาดอร์ โดยมีแผนจะเดินทางไปถึงในวันที่ 15 มิ.ย. โดยเพียร์ซจะเข้าพบประธานาธิบดี และ ข้าราชการต่างๆ เป็นการส่วนตัว

เพียร์ซได้กล่าวว่า “มันเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ที่ได้เห็นผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งที่มองเห็นและเปิดรับบทบาทที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะสามารถมีส่วนในการสร้างโลกที่ดีขึ้นได้ ประธานาธิบดีแห่งเอลซัลวาดอร์ เป็นคนที่กล้าเดิมพันในสิ่งนี้และเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดาของโลกอย่างเห็นได้ชัด มันไม่สำคัญว่าความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่มันอยู่ที่ความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง ผมจึงคิดว่านี่คือจุดเริ่มต้นของปฏิกิริยาลูกโซ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในพื้นที่นี้ ที่กำลังจะได้เห็นว่าบิตคอยน์ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับมัน จะสามารถทำให้ผู้คนนับล้านในอเมริกากลางสามารถเข้าถึงความร่ำรวยได้”

การยอมรับบิตคอยน์มาใช้งานอย่างแพร่หลายโดยประธานาธิบดีแห่งชาวซัลวาดอร์ นายิบ บูเคเล ไม่ได้จบที่การประกาศให้มันเป็นเงินถูกกฎหมายเพียงเท่านั้น ในวันที่ 9 มิ.ย. บูเคเล ยังมีคำสั่งให้ LaGEO บริษัทผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนใต้ภิภพที่เป็นของรัฐบาล ที่ผลิดไฟฟ้าจากพลังงานภูเขาไฟ จัดเตรียมทำการขุดบิตคอยน์ ในทวีตดังกล่าว บูเคเลได้กล่าวว่าเขาตั้งใจที่จะ “สร้างระบบสาธารณูปโภคสำหรับการขุดบิตคอยน์ ที่ใช้พลังงานสะอาด 100% พลังงานทดแทน 100% ที่ไม่ก่อมลภาวะใดๆ” ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปใด้ใหม่ๆ ในการใช้พลังงานสีเขียวในการขุดบิตคอยน์ ที่จะช่วยตอบโต้หนึ่งในข้อติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเทคโนโลยีของบิตคอยน์เกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์

วัตถุประส่งในการตั้งคณะตัวแทนของเพียร์ซ มีขึ้นเพื่อช่วยเหลือรัฐบาลของชาวซัลวาดอร์ และ ช่วยเหลือประเทศในการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยการให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการใช้บิตคอยน์ที่ถูกต้อง โดยเพียร์ซชี้ว่า ในประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ ผู้คนไม่สามารถเข้าถึงระบบการเงินโดยทั่วไปได้ นั่นหมายความว่า พวกเขาจะเข้าถึงบัญชีเงินสด และ บัญชีเงินฝากได้อย่างอย่างยากลำบาก พวกเขาไม่สามารถเข้าถึง ATM และพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงการลงทุนได้

สุดท้ายนี้ เพียร์ซยังได้สรุปว่า “ผมคิดว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นของประเทศต่างๆอีกมากมายที่จะดำเนินตามรอยตัวอย่างนี้ ปารากวัยได้ประการว่าพวกเขาต้องการที่จะทำเช่นนี้ นิคารากัวก็ได้ประกาศว่าพวกเขากำลังทำการศึกษาประเด็นดังกล่าว และ เม็กซิโกก็เช่นกัน ในเร็วๆนี้ เราจะได้เห็นยักษ์ใหญ่ในอเมริกากลาง และ อเมริกาใต้ ลุกขึ้นยืนในได้ในโลกของบิตคอยน์ และ บล็อกเชน และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและจะให้ประโยชน์แก่ผู้คนหลายพันล้านคนทั่วทั้งพื้นที่ และทั่วทั้งโลก”

นี่คือบทความที่ลงในหนังสือพิมพ์ Noticia ฉบับพิเศษ ซึ่งเมื่ออ่านผ่านๆ ก็ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ถ้าตั้งใจอ่านดีๆ จะเห็นว่ามันคือบทความที่ตั้งใจสรรเสร็ญเยินยอนายเพียร์ซอย่างโจ่งแจ้ง โดยการให้ข้อมูลยืนยันสถานะของเขาในฐานะของ ประธานมูลนิธิบิตคอยน์ มูลนิธิที่เขาและเพื่อนๆนักลงทุนที่ใกล้ชิดของเขาสถาปนาขึ้นมาเองโดยไม่ได้มีความหมายใดๆ

นอกจากนั้น บทความดังกล่าวยังแสดงให้เห็นได้ชัดเจน ถึงความพยายามในการแทรกคำว่า เทคโนโลยีบล็อกเชน เทคโนโลยีนอกจากบิตคอยน์ และ คริปโทเคอร์เรนซี เข้าไปอย่างเห็นได้ชัด เพียร์ซ เป็นคนที่ถือบิตคอยน์มาตั้งแต่ยุคแรกๆ แต่เพียร์ซไม่ใช่ผู้ที่มีความเข้าใจในบิตคอยน์ เขามีประวัติการลงทุน และเสียเงินมากมายไปกับการสร้างเหรียญต่างๆ ที่ “ดีกว่าบิตคอยน์” ที่สุดท้ายก็กลายเป็นเพียงเหรียญหลอกลวงที่หวังโขมยเงินจากนักลงทุนเข้ากระเป๋าของผู้สร้างเหรียญเท่านั้น

สุดท้าย บทความเน้นไปถึงการเข้าถึงความมั่งคั่งร่ำรวย มากกว่าการหลุดพ้นจากอำนาจกดขี่ควบคุม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจหัวใจของบิตคอยน์อย่างแท้จริงของคนเหล่านี้

ในทวีตของคริสตัล เพียร์ซ เธอยังได้กล่าวว่า “ราคาเหรียญที่สูงขึ้น ทำให้ทุกประเทศได้ประโยชน์” ซึ่งแน่นอนว่า การตอบรับจากผู้เชื่อในบิตคอยน์ไม่เป็นมิตรนัก

ผู้คนเหล่านี้จึงเปรียบเสมือนงูพิษที่พยายามปลอมตัวเข้าไปในที่ที่มันจะสามารถพ่นพิษได้นั่นเอง ในการเข้าพบรัฐบาลเอล ซัลวาดอร์ เพียร์ซพูดถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้บิตคอยน์ที่ถูกต้อง เกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชน แต่ไม่มีสักครั้งเลยที่เพียร์ซจะพูดถึง Lightning ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้บิตคอยน์สามารถถูกนำมาใช้เป็นเงินได้โดยตรง และเป็นสิ่งที่ชาวเอล ซัลวาดอร์ใช้กันมามากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดสองปีที่ผ่านมา

เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องอันตรายที่ปล่อยผ่านไม่ได้ ครั้งสุดท้ายที่เราได้เห้นการกระทำอันน่ารังเกียจนี้ คือการประชุมเพื่อร่างข้อตกลงนิวยอร์ค โดยกลุ่ม “ผู้นำทางธุรกิจบิตคอยน์” ในปี 2017 ที่เสนอให้ฮาร์ดฟอร์คบิตคอยน์ออกมาในชื่อว่า Segwit2x ซึ่งเป็นการประนีประนอมระหว่างฝั่งผู้ใช้งาน และ นักขุด โดยเป็นสนธิสัญญาที่ลงชื่อโดยธุรกิจในโลกคริปโทเคอร์เรนซีกว่า 57 บริษัท แน่นอนว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่มีใครสนใจและต้องเป็นหมันไป แต่ความอันตรายคือถ้ามันสำเร็จ บิตคอยน์ใหม่นั้นก็จะกลายเป็นบิตคอยน์ที่ถูกควบคุมโดยกลุ่มธุรกิจเหล่านั้นนั่นเอง

การพยายาม Take Over Bitcoin และการนำเสนอ shitcoin เพื่อหลอกเอาเงินจากผู้คนเข้ากระเป๋าผู้สร้างเหรียญมีมาตลอด แต่นี่เป็นเวลาที่สำคัญ ผู้คนในเอลซัลวาดอร์ หันหาบิตคอยน์เพราะมันเป็นเงินที่พวกเขาสามารถเก็บออมได้โดยไม่ต้องกลัวผลกระทบจากการลดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ มันทำให้พวกเขาส่งและใช้เงินได้โดยไม่ต้องมีตัวกลาง มันให้อิสระภาพแก่พวกเขา นั่นคือสิ่งที่บิตคอยน์ทำได้ และเหรียญอื่นๆที่มีเจ้าของ มีบริษัท มีผู้นำ มีตัวกลาง ไม่มีวันที่จะทำได้อย่างแน่นอน

อ้อๆ แล้วสำหรับใครที่จะเถียงในประเด็นที่ว่า ประธานธิบดีเขาไม่มาพบแขกด้วยตัวเองกันหรอกนะ

--

--