อยากจะเริ่มสอนออนไลน์ มีอะไรที่ต้องคิดบ้าง?

Piriya Sambandaraksa
8 min readMar 15, 2020

--

ยาวไปขี้เกียจอ่าน

  • แค่มือถือไม่พอหรอกนะ
  • ไมค์ต้องดี ไมต์สำคัญที่สุด
  • กล้องต้องพร้อม
  • คอมต้องแรง
  • จอสองจอเป็นอย่างต่ำ
  • การเรียนการสอนต้องออกแบบใหม่ให้เหมาะสม

เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในปัจจุบัณ ทำให้การอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่กลายเป็นเรื่องอันตราย โดยเฉพาะในห้องเรียนที่นักเรียน และ ครูผู้สอน จะต้องอยู่ใกล้ชิดกันเป็นเวลากว่าสามชั่วโมงในสภาวะแวดล้อมปิด การเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน เป็นการเรียนการสอนแบบออนไลน์ จึงดูจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมในขณะนี้

แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับครูอาจารย์ที่ไม่เคยสอนออยไลน์มาก่อนเลย การเปลี่ยนแปลงนี้อาจรู้สึกหนักหน่วงพอสมควร

ในฐานะที่ผมเคยได้มีโอกาสจัดคอร์สในรูปแบบออนไลน์ ทั้งสดและไม่สด รวมถึงประสปการณ์จากการเป็นนักศึกษาออนไลน์อยู่เกือบสองปี เลยจะรวบรวมแง่คิดต่างๆที่ได้จากประสปการณ์มาแชร์กันนะครับ อาจยังไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องที่สุดแต่เป็นวิธีที่ผมใช้

**ปล. Guide นี้ อาจไม่เหมาะสำหรับสาวก Apple เนื่องจากผู้เขียนขอไม่ยุ่งเกี่ยวกับบริษัทนั้นโดยเด็ดขาดมาสิบกว่าปีแล้วครับ

เรียนออนไลน์แล้ว Engagement จะหายไปหรือไม่?

ข้อแรกเลยที่ผมเคยเป็นกังวลกับการเรียนออนไลน์ คือการมีส่วนร่วมในคลาส การเรียนออนไลน์จะทำให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์จากการเรียนได้เหมือนการเรียนในชั้นเรียนหรือไม่?

คำตอบคือ มันแตกต่างครับ แต่ไม่ได้แย่ มันอาจดีกว่าด้วยซ้ำ

จากการสอน และ เรียนออนไลน์มาหลายปี ผมพบว่า Class engagement นั้น ขึ้นอยู่กับความเอาใจใส่และการออกแบบคลาสเป็นหลัก การเรียนออนไลน์เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถมีส่วนร่วมกับบทเรียนได้มากขึ้นด้วยซ้ำ การติดต่อสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆที่มีให้เลือกหลากหลาย จะทำให้นักเรียนไม่ถูกกดดันโดย peer pressure และ herd mentality คนที่ไม่ค่อยพูด ก็มีโอกาสได้ตอบ ได้ถาม เมื่อเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบของการพูดคุยออนไลน์แทน โดยส่วนตัวผมได้เอาประเด็นนี้มาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนในชั้นเรียนด้วยซ้ำ ด้วยวิธีง่ายๆ เช่น การเปิด line group ให้ส่งคำถามระหว่างเรียน จะทำให้มี feedback จากนักเรียนมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

platform สำหรับ classroom management เอง ถ้าครูเอาใจใส่และออกแบบให้ดีก็จะมีผลกับ engagement เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น Google Classroom, Moodle หรือ MS Teams ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นผลชัดเจนมากคือการ Quiz แต่ไม่ใช่ Quiz ธรรมดา; platform ที่ได้กล่าวไป สามารถทำ Quizzes / tests ได้หลากหลายรูปแบบ และ ที่สำคัญที่สุดเลยคือการให้ feedback อย่างทันที ในกรณีการทำ quiz แบบ multiple choices เราสามารถที่จะแสดงเฉลยทันทีหลังจากเสร็จสิ้นการทำ quiz ได้ ซึ่งการเฉลยทันทีเป็นการสร้าง feedback loop ที่สำคัญ ที่จะทำให้นักเรียนได้เห็นว่าประเด็นไหนที่ตนอาจยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ และเป็นตัวจุดชนวนคำถามที่สำคัญ อาจนำไปสู่การถามคำถามตามหลังใน forums ของวิชา หรือใน Group chat ซึ่ง ถ้าอาจารย์ผู้สอน สามารถเข้าไปตอบได้สม่ำเสมอ ก็จะทำให้นักเรียนมีความสนใจที่จะถามมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่าง Quiz ใน google classroom ที่เราสามารถกำหนด feedback ทั้งในกรณีที่ตอบถูก แลพในกรณีที่ตอบผิดได้ทันที สามารถเปลี่ยนการทดสอบเป็นกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การเรียนในชั้นเรียน Online ที่ถูกออกแบบมาอย่างเอาใจใส่นั้น สามารถสร้าง engagement ได้เทียบเท่า หรือ อาจมากกว่า การเรียนในชั้นเรียนโดยทั่วไปเสียด้วยซ้ำ แต่ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับความเอาใจใส่ในการบริหารจัดการห้องเรียนของอ.ผู้สอน และ course coordinator เป็นหลักนั่นเอง

สำหรับนักเรียนน่ะดี แต่ผู้สอนล่ะ?

มันยากตรงนี้ครับ การสอนออนไลน์ทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมได้มากขึ้น แต่สิ่งที่ขาดไปคือการได้เห็นสีหน้าของผู้เรียน หลายคนที่สอนมานานจะรู้ว่า การที่เราได้สังเกตุสีหน้าของนักเรียน นั้น เป็น feedback ที่สำคัญสำหรับผู้สอน ในการประเมินเนื้อหาที่สอน ความเร็ว ความยาก และคอยปรับเปลี่ยนตามสีหน้าของผู้เรียน

การที่เราไม่เห็นหน้าผู้เรียนจะทำให้การสอนยากขึ้นมาก เราจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า นักเรียนตามทันหรือไม่ ติดตรงไหน ขำกับมุขที่เราวางไว้ให้แก้ง่วงหรือเปล่า

สำหรับประเด็นนี้ผมยอมรับว่ายากมากๆครับ ผู้สอนต้องปรับตัว และหาช่องทาง feed back ทางอื่นเท่าที่ได้ กระตุ้นให้เกิดการพูดคุยใน chat ยิงคำถาม ฯลฯ ทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ไม่รู้สึกว่านั่งพูดอยู่คนเดียว แต่ไม่นานก็จะเริ่มปรับตัวได้

สิ่งที่ต้องระวังเป็นอย่างแรกเลยคือการใช้เสียง การพูดโดยไม่เห็นหน้าคนฟัง มักจะทำให้เรารู้สึกเหมือนพูดแล้วไม่มีใครได้ยิน เราจะใช้เสียงดังขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว รู้ตัวอีกทีก็เจ็บคอไปหมดแล้ว จะไอก็ไม่ได้ เดี๋ยวสังคมรังเกียจ สิ่งที่เราควรทำคือเตือนตัวเองเรื่อยๆครับ เอาน้ำมาคอยจิบ แล้วพูดด้วยน้ำเสียงปรกติ หัดไปเดี๋ยวก็ชิน

โอเค สรุปคือ มันก็สอนได้นะ แล้วจะเริ่มสอนต้องทำไงบ้าง?

ในการสอนออนไลน์ เราต้องเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านอุปกรณ์ สถานที่ และ ซอฟต์แวร์ โดยทั้งหมด จะขึ้นอยู่กับรูปแบบการเรียนการสอนของแต่ละคน

ก่อนอื่น เรามาพูดถึงรูปแบบการเรียนการสอนแบบคร่าวๆ กันก่อน

  1. Lecture
    การสอนแบบ Lecture เป็นรูปแบบที่ทำได้ง่าย ตรงไปตรงมา และเหมาะกับการสอน Online มากที่สุดแล้ว โดยเป็นการสอนแบบ one-to-many ที่ง่ายต่อการตระเตรียม ผู้สอนสามารถสอนได้ผ่านหลายช่องทางด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ software เฉพาะ เช่น Zoom, GotoWebinar, WebEx หรือ การใช้ Platform สำหรับ LiveStream เช่น Youtube, Facebook Live, Twitch,Mixer เป็นต้น โดยเราจะพูดคุยถึงความแตกต่างกันในภายหลัง รวมไปถึงเครื่องมือในการบริหารชั้นเรียนดังที่กล่าวข้างต้น
    สิ่งที่สำคัญคือ เสียงต้องชัด ภาพต้องชัด
  2. Workshop
    เมื่อผู้สอนไม่สามารถลงเดินในชั้นเรียนได้ จึงทำให้การเรียนการสอนแบบ Workshop นั้น ยากพอสมควร แต่ถ้าเราคิดดีๆแล้ว มันก็ไม่ต่างอะไรกับการทำ Assignment นั่นเองโดย Individual workshop สามารถเปลี่ยนเป็น assignment ได้ ส่วน group workshop ก็เปลี่ยนเป็น group assignment โดยอาจเปิดห้องให้นักเรียนหลายๆห้อง หรือใช้ช่องทางที่มีอยู่แล้วเช่น line group / call เป็นต้น เนื่องจากการเรียนแบบ Online นั้น นักเรียนสามารถพูดคุยสอบถามครูผู้สอนได้ตลอดเวลา จึงทำให้ Assignment นอกชั้นเรียน ก็มีความคล้ายคลึง Workshops นั่นเอง เพียงแต่อาจมีการกำหนดเวลาที่ชัดเจนขึ้นเพื่อเป็นการกระตุ้นกิจกรรม
  3. Presentation
    การให้นักเรียนร Present งานนั้น ไม่ยากสำหรับผู้สอน แต่ค่อนข้างยากสำหรับนักเรียน เนื่องจากนักเรียนอาจไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ จึงต้องพูดคุยตกลงกันให้ดีเสียก่อนเสมอ
  4. Desk-crit
    สถานการณ์พิเศษสำหรับการเรียนการสอนสถาปัตยกรรมคือการตรวจแบบ เมื่ออาจารย์ไม่สามารถคุยกับนักเรียนได้โดยตรงย่อมทำให้การตรวจแบบลำบากขึ้นแน่นอน การ Desk-crit นั้นเป็นการเรียนการสอนกลุ่มเล็ก จึงทำให้มีตัวเลือกในการเรียนการสอนมากขึ้น เช่น Zoom (meeting), GotoMeeting (เห็นหน้าทุกคนได้), Hangout, Line Video call เป็นต้น โดยอาจใช้ Cloud based platform เช่น Google Docs / Google Slides / MS Onenote ในการพูดคุย / Note / Comment กัน หรืออาจใช้ Remote Desktop access เช่น Teamviewer หรือ Anydesk ในการตรวจงานได้อีกด้วย
    การตรวจโมเดลจะยากที่สุด เนื่องจากต้องอาศัยกล้องของนักศึกษา และไม่สามารถสัมผัส ปรับแต่ง หัก ฉีก ตัด ใดๆได้เลย
    อีกแนวทางที่น่าสนใจคือการใช้อุปกรณ์ VR ในการตรวจงาน ผมเคยเข้าร่วม VR seminar event ก็พบว่าเราสามารถสร้าง engagement ได้มากขึ้นจริงๆ รวมไปถึงความสามารถในการขึ้น 3D model ใน VR space แล้วนำเข้ามาใน VR chat เป็นต้น

ผู้สอนควรออกแบบวิธีการเรียนการสอนให้เหมาะกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป นี่เป็นโอกาสที่จะ innovate และทดลองไอเดียใหม่ๆ และ ผลจากการทดลองนี้อาจทำให้เรามองเห็นโอกาสได้มากขึ้นอย่างที่ผมเห็นก็เป็นได้

อุปกรณ์สำคัญ

“เพียงแค่มีมือถือก็สอนออนไลน์ได้” อาจเป็นคำที่หลายๆคนพูดต่อๆกันอยู่เรื่อยๆ แน่นอนครับมันสอนได้ แต่คนเรียนจะเรียนได้หรือไม่? ใครจะอยากนั่งทน 1–3 ชั่วโมง กับภาพมืดๆ เสียงแตกๆ ? ไม่มีหรอกครับ!

แต่ถ้าจะทำให้ดีก็แพง งั้นควรจะเริ่มตรงไหนดี?

เสียงครับ เสียงสำคัญที่สุด ในเมื่อเนื้อหาที่เราจะสอน อาจมาจากหน้าจออยู่แล้ว กล้องอาจไม่มีความจำเป็นนักนอกจากคุณจะอยากเป็น net idol จากการสอน (คิดว่าคงไม่ :D) แต่การเรียน Online ที่ฟังไม่รู้เรื่องมันคือความทรมานอย่างหาที่เปรียบได้ยากครับ ถ้าจะต้องเลือกลงทุนอะไรสักอย่างจึงอยากให้ใส่ใจเรื่องคุณภาพเสียงก่อนเลย

Microphone สำหรับการสอนออนไลน์ หลักๆที่ได้รับความนิยมจะมีอยู่สองประเภทด้วยกัน คือ ไมค์ตั้งโต๊ะแบบ Condensor ที่จะให้เสียงที่นุ่มนวล สบายหู หรือ microphone ติดปก (Lavaliere Mic) ที่เหมาะกับผู้สอนที่ไม่ชอบอยู่กับที่ หรือใครอยากขะเล่นอะไรแปลกๆ จะใช้ shotgun mic / blimp / XR mic (เผื่อสอนแบบ ASMR) ก็แล้วแต่ โดยผมจะแนะนำรุ่นที่ใช้ง่าย คุ้มค่า ‘จบ’ ตามที่เคยใช้มา ดังนี้

Microphone ที่ให้มากับมือถือ (small talk) หรือ หูฟังต่างๆ (air pods)

เอาไว้ฟังเพลงได้ แต่อย่าเอามาสอนเลยครับ

เริ่มต้นด้วยของฟรี ขอสรุปง่ายๆว่า ถ้าเลือกได้ อย่าใช้ครับ เสียงมันอาจดีพอให้คุณร้อง Smule ได้ตอนอยู่คนเดียว แต่สำหรับการฟังนานๆแล้ว range ที่แคบ และ Noise Cancellation ที่รุนแรง ทำให้ microphone กลุ่มนี้ไม่น่าใช้สอนอย่างยิ่ง แต่ถ้าไม่มีอะไร ก็ยังดีกว่าไม่ใช้อะไรเลยครับ

USB Microphone ดีๆ

Microphone แบบที่ทำงานผ่าน USB นั้น เหมาะกับผู้เริ่มต้นเป็นอย่างมาก เพราะไม่ต้องปวดหัวกับการตั้งค่าตัวรับสัญญาน ไม่ต้องลงทุนกับ Audio Interface ใดๆให้ยุ่งยาก แถมยังมีตัวเลือกให้หลากหลาย มีเสียงที่คม ชัด ฟังง่าย สามารถเชื่อมต่อกับมือถือผ่าน OTG cable (ซื้อแยก) ได้อีกด้วย โดยผมแนะนำดังนี้

Blue Yeti / Yeti Nano

Microphone ตัวนี้ ราคาจะสูงนิดนึง แต่คุณภาพคับแก้วสุดๆ สามารถเป็นตัว endgame ของใครหลายๆคนได้ถ้าไม่คิดมาก มีสองรุ่น Yeti / Yeti Nano (จริงๆมี Yeti Pro XLR อีกแต่ข้ามไปก่อน) ซึ่งเสียงออกมาเหมือนกัน 100% ต่างกันแค่ขนาด / ราคา และ pickup pattern ที่ใน Yeti จะมีให้เลือกมากกว่า

Blue Yeti

Blue Yeti สามารถเลือกได้ระหว่าง 4 Pickup pattern คือ 1.แบบ Cardioid หรือ จับเสียงเฉพาะด้านหน้า เหมาะกับการสอนมากที่สุด 2. แบบ หน้า-หลัง Bidirectional สำหรับการสัมภาษณ์สองคน นั่งตรงกันข้าม 3. Stereo รับเสียงแยกซ้าย-ขวา เพื่อเพิ่มการรับรู้มิติและระยะให้ชัดเจนขึ้น (asmr??) และ 4. แบบ Omni directional ซึ่งจะรับเสียงหมดทุกทิศทุกทางเหมาะสำหรับการทำ conference โดยวางไว้กลางโต๊ะ

Blue Yeti Nano

ส่วน Yeti Nano น้องเล็กจะมีแค่ Cardioid กับ Omni เท่านั้น ตัวเล็กลง ราคาถูกลง คุณภาพเสียงเท่าเดิม

ราคา Blue Yeti: 7,990
ราคา Blue Yeti Nano: 4,990

Blue Snowball

Blue Snowball

อีกหนึ่ง Mic ยอดนิยมจากค่าย Blue ตัวนี้มีราคาที่เบากว่า Yeti และมีคุณภาพเสียงที่ดีพอสมควร แม้จะมี Distortion ที่ย่านเสียงต่ำ และ เสียงสูงมากกว่า แต่ถ้าไม่ได้จะร้องเพลงก็ยังโอเคอยู่ (แต่ถ้าให้เลือก ไป Yeti Nano คุ้มกว่าครับ)

ราคา Blue Snowball: 3,690

แพงไป ลงมาอีก

สำหรับ Condenser Mic ราคาย่อมเยาลงมา เราอาจต้องแลกด้วยคุณภาพเสียง และ คุณภาพของวัสดุบ้าง แต่ตัวที่ผมเคยลองแล้วคิดว่า เสียงดี ใช้ง่าย ก็มีดังนี้

Samson C01U Pro — 3,400 บาท

ใช้ง่าย เสียงดี ตัวคุ้มอักตัว

Samson Go Mic — 1,700 บาท

ขนาดเล็กกระทัดรัด มัดติดกับจอได้ แต่บางทีจะมีเสียงจากการเคลื่อนไหวเข้าไปด้วยเยอะพอสมควร

Superlux E205U — 2500 บาท

เสียงโอเค build quality แย่ตาม style Superlux

นี่คือกลุ่มของ Condensor Microphone ตั้งโต๊ะ ซึ่งถ้าต้องการให้คุณภาพการถ่ายทอดดีขึ้นอีก อาจต้องลงทุนกับขาตั้ง และ Shock Mount ที่มีราคาตั้งแต่ 900 กว่าบาท ไปจนถึงหลายพันบาท (Yeti Shock Mount 3,990)

นอกจากนี้ วันก่อนเห็นมี @Squidman.exe บอกว่า Nubwoo ไม่กี่ร้อยก็พอใช้ได้นะ อันนี้ยังไม่เคยลอง

Lav Microphones

ถ้าไม่สะดวกใช้ Microphone ตั้งโต๊ะ อาจพิจารณาใช้ Mic แบบติดปกเสื้อแทน โดย Lavalier Microphones นั้น มีให้เลือกหลากหลายชนิด ทั้งแบบ Omnidirection ไปจนถึง Hyper Cardioid และมีรูปแบบการเชื่อมต่อที่หลากหลาย เช่น

Saramonic ULM5 USB Lavalier — 1,080 บาท

Simple, works, ถ้าสายพังโยนทิ้งทั้งอัน

น้องเล็กใช้งานง่าย เพียงเสียบ USB ก็พร้อมทำงานทันที เสียงเรียกว่าพอใช้ ที่ขาดไปอย่างชัดเจนคือย่านเสียงต่ำ เสียงขาดชีวิตชีวา แต่ที่ราคานี้เราคงไม่บ่นอะไรมาก

นอกเหนือจากตัวนี้ ผมยังไม่เห็น Lav mic ตัวไหนที่สามารถเสียบเข้า USB ได้โดยตรง โดยที่เหลือล้วนแต่ต้องการ Audio Interface มารับ และแปลงสัญญาณก่อนทั้งสิ้น แต่ก็มีตัวที่แนะนำคือ

Deity V-Lav — 1,478 บาท

Deity V.Lav สายยาวมากกกกกกก หาแกนกระดาษทิชชู่มาพันเก็บ

เป็น Lav mic แบบมีสายที่เสียงดีเกินราคาอีกตัว ข้อดีของมันคือระบบเปลี่ยนขั้วสายอัตโนมัติ ไม่ว่าเราจะเสียบมันเข้ากับคอม มือถือ เครื่องอัด เครื่องส่งสัญญาณ ฯลฯ มันจะเปลี่ยนสลับขั้วสายให้ถูกต้องเองอัตโนมัติเสมอ (ระบบเปลี่ยนขั้วใส่ถ่าน อยู่ได้หลายปี) ราคาเบาๆ แต่คุณภาพเสียงดีกว่าหลายๆตัวที่เคยใช้มาครับ

Rode SmartLav + 2,250 บาท

Rode Smart Lav+ , a classic favourite

ตัวนี้ออกแบบมาเพื่อเสียบกับ 3.5mm jack ของ iphone โดยเฉพาะ ให้เสียงที่นุ่มนวล ถ้าต้องการเสียบกับอุปกรณ์อื่นๆ ต้องซื้อหัวแปลงเพิ่ม

ถ้าอยากจะต่อยอดล่ะ?

บางคน เริ่มแล้วจบยาก พอใช้ USB microphone ซักพัก ก็จะเริ่มรู้สึกอย่างได้ Audio interface แยก สำหรับการเริ่มต้นทำการสอนออนไลน์ ผมแนะนำอุปกรณ์เริ่มต้นที่ใช้ง่ายๆ ตามนี้ครับ

Zoom H1n — 3,690 บาท

Zoom H1n ทำได้หลายอย่าง คุณภาพเสียงเยี่ยม

นอกเหนือจากจะเป็นเครื่องอัดเสียงขนาดพกพาที่เสียงดีมากๆ แล้ว Zoom H1n ยังสามารถเสียบหูฟัง และ Microphone ภายนอกได้อีกอย่างละ 1 ตัวผ่าน 3.5mm TTRS jack ที่ด้านข้างของเครื่อง และยังสามารถต่อกับ PC ผ่าน USB เพื่อทำหน้าที่เป็น USB Mic (XR configuration สามารถปรับ pickup pattern ได้หลากหลาย มี lo cut มี auto level) และยังสามารถใช้เป็นตัวควบคุม Mic เสียบสายภายนอกได้อีกด้วย มี Output ทั้ง monitor out แบบ zero latency และ Line Out สำหรับส่งสัญญาณสู่อุปกรณ์อื่นๆต่อ เรียกได้ว่า ถ้าต้องการ Audio interface ตัวนี้ก็คุ้มมากๆครับ จะเอามาต่อกับชุด Lav ไร้สายอย่าง Rode Wireless Go (6,250) ก็ไม่เลวเลย

เอาแค่นี้พอก่อน เพราะถ้าขยับไปตัวสูงกว่านี้ ราคาก็จะเริ่มแรงตามครับ (Zoom H2n 6990 / Zoom H6 12,990 ฯลฯ)

ทั้งนี้ ผมเชื่อว่า USB Microphone จะเป็นคำตอบที่เหมาะสมที่สุด แต่ก็แล้วแต่ผู้ใช้งานด้วยครับ

ผมยังไม่ได้พูดถึง Headset Microphone หรือ Microphone ที่ติดมากับหูฟัง โดยเฉพาะ Gaming head set เพราะ Microphone เหล่านั้นมักให้เสียงที่แห้ง แบน และไม่สบายหูครับ แต่ถ้าสนใจ อาจลองพิจารณา

Hyper X Cloud Alpha — 3,890

เป็นตัวที่ผมลองแล้วเสียงเป็นธรรมชาติดีครับ ฟังง่าย แต่จะบางๆอยู่บ้าง ไม่อู้อี้เหมือน Sennheiser Game series หรืออีกหลายๆตัว ในราคานี้ ได้หูฟังคุณภาพดีพอสมควรมาด้วย ไม่แพงเลยครับ

นอกเหนือจาก Microphone ก็ยังมีอีกวิธีคือการใช้ Microphone ที่ติดมากับ Webcam ครับ แต่จากที่เคยลองมา ส่วนใหญ่จะฟังไม่รู้เรื่องเอาเสียเลย แต่ก็มี Webcam บางตัว ที่นอกเหนือจากจะมีคุณภาพภารที่สูงแล้ว ยังมีภาครับเสียงที่ดีอีกด้วย ผมเลือกมาให้สองรุ่นครับ

Logitech c922pro — 3,490

ครบเครื่องสำหรับ Webcam ครับ ภาพความละเอียดสูง ทำงานได้ดีทั้งในแสงมากและแสงน้อย สามารถตัดฉากหลังได้ และที่สำคัญ Microphone คมชัดมากครับ แต่การที่ mic อยู่ไกลจากปากเราจะทำให้มีเสียงรบกวนหลุดเข้าไปได้มากพอสมควร

Logitech Brio -6,590

ถึงแม้ว่าจะเก่ากว่า c922 pro แต่ Brio ก็ยังเป็น webcam ที่เหนือกว่าในหลายๆด้าน ด้วยกล้องที่มากกว่า 1 กล้อง นอกจากกล้องหลักแล้ว ยังมีกล้อง ir ที่ทำให้สามารถจับระยะของ subject ได้แม่นยำ สามารถใช้งานกับ Windows Hello ได้ และสามารถลบ Background ได้ในตัวกล้อง ไม่ต้องมาโหลดหนักบนเครื่อง ประกอบกับ Microphone ที่ดีพอสมควร ก็เรียกได้ว่าทีเดียวจบได้เลยครับ

จบเรื่องเสียงก็มาถึงเรื่องภาพ

สำหรับการเรียนการสอนออนไลน์นั้น การได้เห็นหน้าของผู้สอนก็เป็นสิ่งสำคัญครับ เพราะมันจะช่วยทำให้นักเรียน focus ได้มากขึ้น มากกว่าการดูจอเฉยๆ แต่การถ่ายภาพนั้นก็ไม่ง่ายเลยขึ้นอยู่กับ platform ที่ใช้ในการสอนด้วย

อุปกรณ์ที่ง่ายที่สุดก็จะเป็นโทรศัพท์มือถือของเราเองครับ มือถือเดี๋ยวนี้กล้องดีมาก แต่การใช้งานมันจะยากตรงที่เราจะต้องแชร์หน้าจอไปด้วย ซึ่งการใช้กล้องมือถือนั้น เราจะสามารถส่ง video feed จากมือถือเข้าชั้นเรียนได้ แต่ ไม่สามารถส่งหน้าจอได้ นอกจากจะ setup ให้ ภาพมาจากที่หนึง จอมาจากอีกเครื่องหนึ่ง (MS Teams น่าจะทำได้) แต่ก็ยุ่งยากพอสมควร ครั้นจะใช้ Webcam ที่มากับ notebook ก็ดูไม่รู้เรื่อง กล้องที่ผมแนะนำในงบจำกัด ก็คงหนีไม่พ้นสองตัวที่เพิ่งแนะนำไปด้านบนครับ ได้ทั้งภาพ ได้ทั้งเสียงที่ดีพอประมาณ

แต่ถ้าเรามีกล้องอยู่แล้ว เราสามารถเอากล้องที่มีอยู่มาทำได้ครับ โดยเราสามารถดึง Video feed จากกล้อง (หรือจากมือถือ) มาเข้า Computer ผ่าน converter ได้ ซึ่งผมได้ลองใช้มาหลายตัวและตอนนี้มาลงเอยที่ Elgato HD60S ที่ใช้งานง่าย คุณภาพดี software ไม่ยุ่งยาก

Elgato HD60 S — 5,950

โดยสิ่งที่เราต้องตรวจสอบคือ กล้องที่จะใช้ มี HDMI out หรือไม่ และเตรียมสายให้เรียบร้อย (ส่วนใหญ่ DSLR จะมี mini หรือ micro HDMI out) อย่างในปัจจุบัณ ผมใช้ Sony a7II ต่อ HDMI out มาเข้าตัวแปลงแล้วเข้าคอมอีกที

วิธีนี้จะเหมาะกับคนที่ใส่ใจคุณภาพ และมีกล้องที่ใช้ได้อยู่แล้วครับ แต่ Mic จากกล้อง DSLR จะอยู่ไกลจากเราพอสมควร ไม่ได้ยินอะไรแน่นอน!

มีภาพ มีเสียง อย่าลืมหูฟัง!

ถ้าเราต้องการให้นักเรียนมีการโต้ตอบกลับมา ผู้สอนควรมีหูฟังให้พร้อมด้วยครับ เพราะถ้าเสียงออกมาจากลำโพง ก็จะ feedback เข้า microphone เละเทะเลย (Blue มีระบบป้องกันตรงนี้ แต่ก็จะทำให้เสียงฟังยากขึ้นครับ) หูฟังใช้ของอะไรก็ได้ครับ เอาไว้ฟังเอง เอาให้ใส่สบายก็พอ :) ถ้าใช้ Headset ก็จบเลยเหมือนกัน

ครบรึยัง อุปกรณ์?

เกือบแล้วครับ จะเห็นได้ว่า การจะเตรียมอุปกรณ์เพื่อการสอนออนไลน์อย่างมีคุณภาพก็ต้องลงทุนกันพอสมควร เรามาลอคำนวณ Set Up ที่ผมแนะนำกันดูนะครับ (ค่าใช้จ่ายไม่รวมอุปกรณ์เสริมต่างๆ เช่น ขาตั้งกล้อง, ขาตั้งไมค์แบบติดโต๊ะ, Shock Mount, หูฟัง, etc.)

SETUP 1: Clear Sound Clear Picture สำหรับนั่งสอน

Blue Yeti Nano + Logitech C922 Pro = 4990+3490 = 8,480

SETUP 2: All in One Solution พกพาง่าย ชิ้นเดียวพร้อมสอน

Logitech Brio 6,590 / Logitech C922 pro 3,490

SETUP 3: Lav+ ชุดสำหรับคนอยู่ไม่นิ่ง

Saramonic ULM5 USB + Logitech C922 pro (ใช้โหมด auto tracking) = 1080 + 3490 = 4,570

SETUP 4: อยู่ไม่นิ่งจริงๆนะเออ (Lav ไร้สาย)

Rode Wireless Go 6250 + Zoom H1n 3690 + Logitech C922 Pro 3490 = 13,430

SETUP 5: ชุดประหยัด อย่ามองหน้ามาก

Saramonic ULM5 USB 1,080 บาท จบ ยอมใช้ webcam บน notebook เอา แต่งหน้าเข้าสู้ครับ

จะเห็นได้ว่า ค่าใช้จ่ายก็จะขึ้นกับความต้องการของผู้สอน โดยเครื่องมือที่แนะนำนี้ เป็นชุดเริ่มต้นเท่านั้น เมื่อสอนไปสักพัก ผู้สอนจะเริ่มอยากปรับเปลี่ยนได้เองตามความต้องการของแต่ละคน

คอมล่ะ ต้องดูอะไร?

สิ่งสำคัญเลยสำหรับการสอนออนไลน์ คือความสามรถในการที่จะสอน และ ดู interaction / engagement ในชั้นเรียนไปพร้อมๆกัน ดังนั้น ควรมีจออย่างน้อย 2 จอเสมอ โดย จอหนึ่ง จะเอาไว้ดู Chat / Questions / Quiz / Attendees ส่วนอีกจอจะเอาไว้ Share หน้าจอเป็นเนื้อหาที่สอน

ส่วนที่สำคัญอีกส่วนคือ RAM และ CPUครับ การ Cast หน้าจอสดนั้น ไม่ว่าจะผ่าน OBS / GotoMeeting, Zoom, WebEX หรือ MS Teams ล้วนแล้วแต่กิน RAM และ CPU (ในบางกรณี GPU) จำนวนมาก เพราะต้องทำการ Transcode Video แล้วส่งออกตลอดเวลา ถ้าเครื่องไม่แรง ก็จะอืดไปได้พอสมควร สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ เราจะทำอะไรระหว่าง Live เช่น ถ้าเราเปิด Slide อย่างเดียว RAM สัก 4gb ยังพอไหว แต่ถ้าจะทำ 3D / CAD หรือ Photoshop ไปด้วย อาจต้องใช้ถึง 16gb

CPU ก็ต้องแรงพอสมควร ไม่งั้นค้างครับ อย่างน้อยซัก Core i5 7th gen ก็ยังดี

ปล. จอที่จะใช้สอน แนะนำให้เป็นจะ 16:9 ธรรมดาครับ ไม่ต้องเป็น Ultra wide หรือ Super Wide เพราะเวลาขึ้นที่หน้าจอนักเรียนจะได้ดูง่าย ถ้าใช้พวก Ultrawide อยู่ อาจเลือก Share เป็น Windows แทน แล้วใช้พื้นที่ที่เหลือควบคุมการสอน / ดู Chat ได้

มีอะไรอีกมั๊ย?

ที่เหลือเป็นอุปกรณ์เสริมครับ ขึ้นอยู่กับผู้สอนเลย ยกตัวอย่างเช่น ผู้สอนต้องการตรวจแบบ หรือเขียนกระดานให้ดู ก็อาจต้องใช้ปากกาในการสอน ถ้า Notebook หรือ PC ที่ใช้มีปากกาให้แล้วก็ลองดูก่อนก็ได้ครับ แต่ถ้าไม่มีก็อาจต้องซื้อต่างหาก โดยแนะนำแบบที่เป็น Pen Tablet มากกว่าเป็นจอครับ เพราะเราสอนเวลานาน การก้มเขียนบนจอจะทำให้เสียงไม่ชัด และปวดหลังได้ง่าย แนะนำเป็นรุ่นพวกนี้

Wacom Intuos 2,690–6,590

แนะนำของ Wacom เป็นหลักครับ เนื่องจาก Latency ที่ต่ำ และกิน resource ของคอมน้อย จึงเหมาะกับการ Live เรื่อง Bluetooth ไม่สำคัญนัก เพราะเวลาเรา Live BT จะมี Lag สูงเกินจนเขียนยากครับ เลือกขนากตามใจชอบเลย

Software

การสอนออนไลน์ ไม่เหมือนการ Live ครับ ในการทำรายการ Live นั้น เราจะมี Switcher ที่ตัดต่อภาพและเสียงก่อนส่งออกสดๆอยู่ (ง่ายที่สุดก็ OBS ครับ ฟรีด้วย)

แต่การสอนออนไลน์ที่ใช้ Platform สำเร็จรูปนั้น เราจะสามารถ Share หน้าจอ หรือหน้าต่างที่ต้องการได้เลยโดยตรง หรือแม้กระทั้ง Share presentation ให้เปิดในเครื่องฝั่งนักเรียนก็ได้ (MS Teams, GotoWebinar, Zoom, WebEX) โดย Webcam feed จะขึ้นแยกกัน นักเรียนสามารถที่จะเปิด ปิด หรือย้ายตำแหน่งได้ตามใจชอบ จึงไม่ต้องคิดมากครับ

แต่ถ้าอยากจะคุม Video Feed เองทั้งหมด โปรแกรมที่ผมแนะนำคือ OBS ครับ พลิกแพลงได้ทุกท่า กิน CPU น้อย ขนาดเล็ก ฟรี แต่เริ่มต้นหัดใช้งานจะยากหน่อย ลองหาวิธีใช้ตาม Youtube มีเยอะแยะครับ โดยเราสามารถควบคุมกล้องหลายตัว แสดง chat ใน feed สลับกล้องได้ ฯลฯ ซึ่งจะเหมาะกับ Session ที่ทำนอก platform ใหญ่ เช่น การ Video conference ใน Line Group เป็นต้น ก็จะทำให้เราแชร์จอได้ง่ายๆครับ

ห้องสำหรับการสอน

ทั้งหมดที่กล่าวมาในบทความนี้ มีปัจจัยสำคัญอยู่อีกปัจจัยคือห้องสำหรับการสอนครับ คุณครูควรมีห้องที่เป็นส่วนตัว ปราศจากการรบกวน เพราะเวลาสอนออนไลน์ เราจะต้องใช้สมาธิสูงมาก และที่สำคัญคือ Acoustics ภายในห้องครับ

การเลือกชนิดของ Microphone จะขึ้นอยู่กับห้องเป็นอย่างมาก ถ้าห้องมีเสียงก้อง เสียงสะท้อนมาก Condensor Microphone ก็จะจับเสียงสะท้อนเหล่านั้นด้วย ทำให้ฟังยากขึ้น ก็จะต้องเอา microphone มาใกล้ปากมากขึ้น (แปลว่าอาจต้องเพิ่ม Pop filter เข้ามาด้วย (ประหยัดจริงๆ ไม้แขวนเสื้อดัด สวมถุงน่องก็ได้อยู่ครับ)) หรืออาจต้องเปลี่ยนมาใช้พวก Hyper Cardioid Mic อย่างเช่น Samson C02 (5,100) หรือ Shotgun mic อย่าง Rode NTG-4 หรือ Deity V-Mic D3 (3,139) เป็นต้น

วิธีในการแก้ไขเสียงสะท้อนในห้อง ทำได้ง่ายๆ โดยทดลอง Set up ทุกอย่างให้เรียบร้อย แล้วให้ใครสักคน ถือกระจกเดินแนบผนังไปเรื่อยๆ ตรงไหนที่มองเห็น Microphone ตรงนั้นเป็นจุดที่มีเสียงสะท้อนเข้า mic ให้เอาผ้า หรือ Acoustic foam ไปแปะ ก็จะทำให้เสียงชัดขึ้นได้

ตอนต่อไป

ทั้งหมดนี้ พูดถึงแค่การเตรียมตัวเตรียมอุปกรณ์เท่านั้น ประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่า คือเราจะสามารถสร้าง Engagement ในชั้นเรียนได้อย่างไร ซึ่งคำตอบผมได้กล่าวถึงไปแล้วในตอนต้นของบทความนี้ นั่นคือการใช้เครื่องมือของ Classroom management platform ให้เต็มประสิทธิภาพ

คอร์สออนไลน์ที่ดี คือคอร์สที่นักเรียนรู้สึกมีส่วนร่วม รู้สึกว่าเสียงของเค้ามีคนได้ยิน ดังนั้นการใช้เครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Assignments, quizzes, หรือ tests นั้น ควรใช้เพื่อสร้าง feedback loop มากกว่าเพื่อการเก็บคะแนน

ในตอนต่อไป ถ้ามีแรงเขียน เราจะมาดู Platform การสอนออนไลน์ที่สำคัญๆ ทั้งในส่วนของการทำ Live Stream (Zoom, GotoWebinar, WebEx, MS Teams) และระบบบริหารจัดการชั้นเรียน (Google Classrooms, Moodle, และ MS Teams) กันอีกที

--

--